บทที่ 3 บ้านลัชชี
เสียงถามดังมาจากด้านขวามือ คุงหันไปมองเห็นชายสูงวัยยืนยิ้มส่งมา รูปร่างของคนทักทายกำยำ สันทัดไม่สูงเกินกว่าคุง เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้าฝ้ายพื้นเมืองที่คุงเคยซื้อมาจากตลาด สีเทา สีกรมท่า โสร่งลายตางรางหมากรุกสีเทา ขาว ผ้าขาวม้าพาดไหล่ซ้าย ลายทางยาวสีแดง ขาว ผมบนศีรษะดำ รอยยิ้มเป็นมิตรมากกว่าคลางแคลงสงสัยกับการได้พบคนแปลกหน้าอย่างคุง
“มาจากบ้านมะแว้งจ้ะน้า ที่นี่ที่ไหนหรือจ๊ะ ฉันว่าฉันกำลังกลับบ้านฉันจ้ะ”
“ที่นี่บ้านลัชชี พ่อหนุ่มไม่เคยได้ยิน ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นดอก ครั้งนี้อาจเป็นบุญกุศลเก่าของพ่อหนุ่มจึงได้เข้ามา หาคนเข้ามาได้ยากนะพ่อหนุ่ม”
“ทำไมเกี่ยวกับบุญกุศลเก่าด้วยล่ะจ๊ะน้า”
“เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของคนธรรมดาอย่างพ่อหนุ่มอยู่กันนะซี”
คุงงงกับคำพูดของคู่สนทนา รอยยิ้มมีน้ำใจ น้ำเสียงอ่อนโยน การเดินมั่นคงของน้าที่คุงเรียก บ้านลัชชี เขาเพิ่งได้ยินเป็นครั้งแรกจริงๆ
“เอาเถอะ ประเดี๋ยวพ่อหนุ่มจะเข้าใจ ในเมื่อบุญกุศลผลักพ่อหนุ่มเข้ามาในแดนของลัชชีแล้ว ข้าจะพาพ่อหนุ่มไปเดินดูรอบหมู่บ้าน ตอนนี้เขากำลังทำกับข้าวมื้อค่ำกัน บ้านข้าอยู่ตรงโน้น ไปบ้านข้าก่อน กินข้าวด้วยกันก่อนค่อยกลับ แต่ต้องรีบกลับนะพ่อหนุ่ม รีบตามข้ามาเร็วเถิด”
แม้คุงจะแปลกใจกับสถานที่ใหม่ หมู่บ้านใหม่ไม่เคยเห็น ผู้คนแปลกหน้าทุกคน แต่สิ่งที่คุ้นเคยคือการทำกับข้าวของแต่ละบ้านเหมือนหมู่บ้านของเขา ตกเย็นมาแม่เข้าครัว หุงข้าว ทำกับข้าวไว้รอเขากับพ่อ บ้านอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน บ้านญาติใกล้ๆ บ้านเขาลูกสาวทำกับข้าวแทนแม่ ลูกสะใภ้บ้านผู้ใหญ่ทำกับข้าวให้พ่อปู่แม่ย่ากิน ทุกครอบครับเป็นอย่างนี้
ชายสูงวัยเดินตรงไปยังบ้านทรงไทยหลังใหญ่ ตัวบ้านกว้างและยาวลึกเข้าไปข้างใน มีชานแล่นกลาง สองข้างซ้ายกับขวากั้นเป็นห้อง ข้างละ 2 ห้อง ด้านในต่อเป็นครัว ด้านหน้าบ้านมีระเบียงมุขนั่งเล่น ตั่งตั้งตรงกลางระเบียง มีหลังคาคลุมกันแดดกันฝน บ้านทั้งหลังใช้ไม้สักทอง ราวบันไดแกะสลักลวดลายกนก พื้นบันไดเป็นไม้แผ่นใหญ่ 2 แผ่นก็ใหญ่เท่ากับกระดานปูพื้นบ้านของคุง 4 แผ่น บ้านใกล้เคียงหลังนี้ปลูกทรงเดียวกัน
“นี่บ้านลูกสาวกับลูกเขย หลังโน้นลูกชายกับลูกสะใภ้ ขึ้นบ้านก่อนพ่อหนุ่ม”
“น้าจ๊ะ ฉันยังไม่รู้จักชื่อน้าเลย ฉันชื่อคุงจ้ะเป็นลูกพ่อเถิน แม่ชบา จ้ะ”
“ออ เป็นลูกชายคนเดียวรึ”
“จ้ะน้า”
“ข้าชื่อแถม เมียข้าชื่อทิพย์ ลูกข้าผู้ชายชื่อโถม ผู้หญิงชื่อทับทิม เข้ามาก่อน แม่ทิพย์ แม่ทิพย์ ข้าพาแขกต่างเมืองมากินข้าวด้วย ประเดี๋ยวต้องให้เขารีบกลับ”
ทิพย์กุลีกุจอออกจากครัว รูปร่างสาวสูงวัยท้วมเล็กน้อย ผิวขาว หน้าตาดี หากพูดกันตามประสาชาวบ้านก็ไปวัดไปวาได้ตอนเช้าทีเดียว
“ใครมารึพ่อแถม”
“พ่อหนุ่มคนนี้ชื่อคุง นานๆ จะมีแขกต่างเมืองมาเยือนสักครั้ง ตั้งสำรับเร็วเถอะแม่ทิพย์”
“เชิญกินข้าวกับเราก่อนนะพ่อหนุ่ม”
ทิพย์ยิ้มให้คุง ใบหน้าแย้มยิ้มเป็นมิตร คำพูดอบอุ่น คุงยกมือไหว้ขอบคุณเจ้าของบ้าน เขายังคงงงกับคนแปลกหน้าอีกคน ทิพย์สวมผ้าซิ่นสีเปลือกมังคุด เสื้อคอกระเช้าสีน้ำเงิน สวมสร้อยทองเส้นใหญ่ ดูเพียงสายตา คุงเดาว่าสร้อยที่ทิพย์สวมหนักไม่ต่ำกว่า 3 บาท
หมู่บ้านชื่อแปลก คนในหมู่บ้านยิ้มรับแขกอย่างน่าอัศจรรย์และร่ำรวยเกือบทั้งหมู่บ้าน คุงคิดเช่นนั้น ความแปลกยังคงวนอยู่ในสมองแต่ยอมเดินตามแถมไปทางระเบียงด้านหลังติดกับครัว ตรงจุดนี้ใช้สำหรับตั้งสำรับกินข้าวทุกมื้อ
“พ่อคุง รีบกิน รีบกลับเถอะพ่อ ได้เข้ามาถึงที่นี่นับเป็นบุญตา”
ทิพย์ตักข้าวจากหม้อดินด้วยทัพพีทำจากไม้ใส่ชามซึ่งชาม กะละมัง ถ้วย ทำจากดินเผา นี่เป็นความแปลกอีกอย่างหนึ่งส่วนสำรับเป็นทองเหลือง ขันน้ำดื่มเป็นทองเหลือง ขันใบเล็กในขันใบใหญ่ก็เป็นทองเหลือง
อาหารในถาดทองเหลืองล้วนแล้วแต่น่ากินสำหรับคุง แกงป่าปลาเนื้ออ่อน ปลาเค็มทำจากปลาเนื้ออ่อนทอด น้ำพริกกะปิ หัวปลีต้ม ยอดตำลึงลวก อาหารพื้นบ้านอย่างที่เขาเคยกิน แม่ตำน้ำพริกอร่อยกว่าใครๆ ในหมู่บ้าน เขาจ้องมองกับข้าวพลันคิดถึงกลิ่นปลาเค็มทอดกับแกงป่า
เขาได้กลิ่นแกงกับปลาเค็มทอดได้อย่างไร หมู่บ้านลัชชีอยู่ใกล้ทางไปไร่หรือ ไม่ใช่ เขาไม่เคยเห็นหมู่บ้านที่ไหน ไม่มีบ้านคนอยู่กลางท้องนา มีแต่เถียงนาหรือกระท่อมท้ายนา หัวไร่ ปลายนา เท่านั้น
“พ่อคุง กินเถิด ประเดี๋ยวข้าจะพาไปเดินเที่ยวรอบๆ หมู่บ้าน พ่อคุงจะได้กลับบ้าน ป่านนี้พ่อแม่พ่อคุงรอแล้วละ”
“ฉันไม่หิวจ้ะ พาฉันเดินเที่ยวดีกว่านะน้า”
“ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจดอกพ่อคุง พ่อมาถึงถิ่นต้องต้อนรับ ประเดี๋ยวผู้คนจะมารอชมพ่อคุง พวกเขาคงตื่นเต้นกันมาก นานๆ จะมีคนเข้ามาหมู่บ้านของเรา รีบกินเถิดพ่อ”