บท
ตั้งค่า

บทที่ 5 มรสุม

ชีวิตในวังหลังไม่เหมือนที่วิลาสินีคิดไว้นัก อันที่จริง มันแย่ยิ่งกว่าที่นางคิดไว้เสียอีก!

ป๊อก!

“โอ๊ย!”

เหตุผลหลัก ๆ คือ ประการแรก นางกำนัลตำหนักนี้ดุมาก... ด้วยจิตภักดีรุนแรงเลยพยายามทุกอย่างเพื่อให้สนมกรมในของกฤตพรตชดช้อยไร้ที่ติ วิลาสินีโดนไม้เคาะตาตุ่มจนช้ำหมดแล้ว

“ทรงพระดำเนินดี ๆ เพคะ กางพระอูรุ (ต้นขา) แบบนั้นไม่งามเลย”

วิลาสินีถลึงตา “ข้าไม่ได้เดินถ่างขาขนาดนั้นสักหน่อยป้ากุสา! คนที่นี่ต่างหากที่ขาไขว้กันอย่างกับนางรำเดินตลอดเวลา ข้าเดินปกติออก แบบนี้ไง”

“ก็นั่นแหละเพคะที่เรียกถ่าง! ฮึ่ย! เห็นแก่พระเกียรติของฝ่าบาทกฤตพรตบ้าง ทรงเป็นพระวรชายาผู้ทรงสิริโฉมแห่งวังหลังแท้ ๆ เทียว ไฉนยังอยากทำตนเป็นชาวป่าชาวดอยอยู่ได้!”

ประการที่สอง... คนเฒ่าคนแก่ในวังส่วนหนึ่งดูถูกชาวป่าไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะนางกุสา นางกำนัลผมสีดอกเลาหัวแข็งที่ดูแลรับใช้ฝ่ายในอย่างคนเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยง เกิดที่วังหลังและจะตายที่วังหลัง กล้าเคาะตาตุ่มพระสนมมาหลายองค์ตั้งแต่สาวยันแก่ หากนางเห็นว่ากำลังทำเรื่องไม่บังควร

ซึ่งเรื่องที่นางเห็นว่าไม่บังควรนั้นก็เผอิญเยอะแยะจุกจิกเหลือแสน ความจริงวิลาสินีสั่งลงโทษนางกำนัลได้ตามใจชอบ แต่หญิงสาวก็ไม่อยากจะสำแดงอำนาจแบบนั้นเท่าไร เพราะว่า...

“เหนื่อยใจจริง ๆ สวยแต่รูป หาได้เพียบด้วยคุณสมบัติอย่างพระนางพิมพ์” นางกำนัลส่าหรีสีจำปาข้างหลังนางซุบซิบกัน

ประการที่สาม... พิมพิสุทธิ์ หรือที่เรียกกันอย่างรักใคร่ว่าพระนางพิมพ์ สนมเอกของกฤตพรตซึ่งเป็นใหญ่ในวังหลังมานานแล้ว ดูจะได้ใจนางกำนัลทั้งหมดไปและทุกคนก็มั่นใจว่าสักวันนางจะได้เลื่อนยศเป็นพระวรชายา ทว่าจู่ ๆ วิลาสินีก็โผล่มาจากป่าดงไหนไม่รู้ เชิดธำมรงค์มรกตไปเสียง่าย ๆ วิลาสินีรู้สึกว่าหากนางวางอำนาจก็จะยิ่งหาเรื่องให้คนที่นี่เกลียดขี้หน้านางเข้าไปใหญ่

“เอาเถอะกุสา อย่าต่อว่าพระนางวิลาสินีนักเลย พระนางเพิ่งประทับที่นี่ได้แค่เดือนสองเดือน จะทรงลืมวิถีชีวิตเก่า ๆ ในไพรสณฑ์ตั้งหลายปีได้อย่างไร”

พิมพิสุทธิ์เอ่ยเสียงหวานมาจากชานระเบียง มือน้อย ๆ ที่สวมกำไลเงินกรุ๊งกริ๊งหลายวงขยับขึ้นลงคล่องแคล่วขณะนั่งปักริมผ้าด้วยลูกปัดแก้วแวววาว กลุ่มนางกำนัลและนักสนมที่ยศต่ำกว่าหมอบเอี้ยมเฟี้ยมช่วยกันปักผ้าผืนยาวนั้นส่วนอื่น ๆ อยู่รายรอบนาง

พิมพิสุทธิ์ยกยิ้มน้อย ๆ มาให้ ริมฝีปากแต้มชาดแดงสดใส เข้ากับสังวาลทับทิมบนส่าหรีลายดอกรำเพยสีขาวมุก นางแม้ไม่ใช่หญิงงามล่มเมืองแต่ก็นับเป็นเบญจกัลยานี ชาติตระกูลดี ผมหอมรูปร่างสมส่วน ไม่มีไฝฝ้าราคีบนเนื้อตัวตามตำรา จึงได้รับคัดเลือกมาเป็นสนมคนแรกของกฤตพรตเมื่อเขาอายุราวสิบหกสิบเจ็ด เพื่อถวายงานให้รู้รสกามารมณ์และความละเอียดอ่อนของร่างกายสตรี เป็นที่ระบายความปรารถนาของวัยหนุ่ม นางเป็นคนเดียวที่เคยร่วมหมอนกับกฤตพรตจริง ๆ อยู่ราวสองปี ก่อนที่เจ้าชายหนุ่มจะเริ่มฝึกฝนเวทศารทูล ด้วยเหตุนี้นางจึงได้ดำรงตำแหน่งพระสนมเอก

วิลาสินีไม่ตอบกระไรและไม่ได้ยิ้ม นางไม่เห็นสิ่งใดเลยในดวงตาสีเทาเข้มที่บรรจงเขียนขอบคมงามของพิมพิสุทธิ์ นอกจากความริษยาและชิงชัง... แหวนมรกตบนนิ้วของวิลาสินีกรีดหัวใจอีกฝ่ายหนักหนา เข็มปักผ้านั้นหากเป็นไปได้ก็อยากทิ่มตานางเต็มแก่

ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่วิลาสินีมาอยู่วังหลัง พิมพิสุทธิ์ก็ทักทายปราศรัยว่า ‘น่าเศร้าจริง ไม่รู้เพราะเหตุใด ทุกวันนี้เจ้าพี่ไม่เรียกใช้ผู้ใดอีกแล้ว มิเช่นนั้นพระนางก็น่าจะได้ประทับในห้องบรรทมสักคืนให้สมเกียรติเจ้าสาวสยุมพร’ หญิงสาวคงจะภาคภูมินักที่ได้เป็นผู้เดียวที่เคยมีสัมพันธ์กับกฤตพรต ทว่าตอนนั้นวิลาสินีไม่รู้ ตอบไปซื่อ ๆ ว่า

‘อ้อ ไม่เป็นไรหรอก ข้านอนกับพระองค์คืนหนึ่งที่กระโจมสยุมพรในป่าแล้ว’

สายตาพระสนมเอกแทบจะฆ่าคนได้ทีเดียวกับคำตอบนั้น และวิลาสินีก็อึดอัดตั้งแต่วินาทีดังกล่าวเป็นต้นมา

“ข้า...อยากไปเดินเล่นหน่อย” วิลาสินีหันรีหันขวาง ชักเท้าหลบเมื่อป้ากุสาทำท่าจะเคาะตาตุ่มเข้าให้อีก ปกตินางจะกลับห้องนอนที่นางกำนัลจัดให้เวลาหงุดหงิดรำคาญใจ แต่อยู่ในห้องบ่อย ๆ ก็ชักเกินทน สองเดือนมานี้นางเหมือนใกล้จะบ้าเข้าไปทุกที “ไม่ต้องตามมา” หญิงสาวบอกนางกำนัลส่าหรีสีจำปาสองคนที่คอยตามไปทุกแห่งตามหน้าที่ ทั้งที่ซุบซิบนินทานางตลอด

“อ้าว แต่ใกล้เวลาเสวยมื้อเที่ยงแล้วนะเพคะ” พิมพิสุทธิ์ค้าน “หม่อมฉันอยากจะเชิญพระนางมาร่วมปรุงกระยาหารให้เจ้าพี่อยู่เชียว”

วิลาสินีหน้าขึ้นสี “ไม่ล่ะ...” นางตอบเสียงค่อย เดินลงจากเรือนไม้อยากรวดเร็ว ฝีเท้านางว่องไวกว่าสาวชาววังมากนัก เพียงครู่เดียวก็ออกมาถึงสระหลวง บัวปุณฑริก (บัวหลวงพันธุ์ดอกแหลมสีขาว) สีขาวสะอาดชูดอกส่งกลิ่นหอมเย็น วิลาสินีหยุดนั่งยอง ๆ ที่ริมสระนั้นแล้วถอนใจเฮือก

เหตุผลประการสุดท้าย... นางทำอะไรแบบชาววังไม่เป็นเอาเสียเลยอย่างที่คาดการณ์ไว้ ไม่ว่าทำอาหาร เย็บปักถักร้อย หรือแม้แต่แต่งกายให้ถูกต้องตามธรรมเนียม และแทนที่คนในวังหลังจะสอนนางก็กลับเป็นที่ขบขันกลั่นแกล้ง พิมพิสุทธิ์นั้นเป็นที่หนึ่ง มักกล่าวชวนนางไปพับบายศรีไม่ก็ทำขนมด้วยกัน ให้นางกำนัลเยาะหยันฝีมือวิลาสินีเล่น นางทำแป้งหนาไปบ้าง พับใบตองแตกบ้าง พยายามจะทำให้ถูกแต่ก็ไม่รู้วิธีว่าต้องทำอย่างไร

เงาใบหน้าของวิลาสินีสะท้อนอยู่ในสระน้ำ นางหยุดมือที่กำลังทึ้งผมอย่างอัดอั้นตันใจก่อนจะมองดูตนเอง ส่าหรีสีตอง ห่มผ้าปักงามวิจิตรไว้อีกชั้น เกล้าผมมวยสูงปักปิ่นทองรูปช่อดอกไม้ แต่ใบหน้ากลับเหน็ดเหนื่อยอมทุกข์กว่าที่เคยเป็นมา นางเพิ่งนึกตกใจอย่างจริง ๆ จัง ๆ ว่าสองเดือนที่ผ่านมานี้นางแทบจะไม่ได้ยิ้ม

“พระสมุทรทรงเมตตา ข้ามาทำอะไรที่นี่...”

สระหลวงนิ่งสงบมีแต่เต่าน้ำว่ายไปมาอยู่ลึก ๆ และบัวปุณฑริกที่ได้รับการดูแลอย่างดี ไม่มีหอยหรือแมลงอะไรมากัดกินให้ชอกช้ำ ใบบัวแห้งเน่าถูกเก็บทิ้งหมดทุกเช้า โอ...มันไม่เหมือนลำธารเชี่ยวกรากในป่าประดู่เลยสักนิด น้ำตาร้อน ๆ เหมือนจะคลอขึ้นมาหลังนัยน์ตาสีเขียวส่อง นางไม่ได้คิดว่าชีวิตในวังหลังจะมีแต่คนใจร้าย นางพร้อมจะเปลี่ยนและเรียนรู้ แต่การมาที่นี่ของนางกลับไม่เป็นที่ต้อนรับเพราะเป็นศัตรูกับผู้ที่มาอยู่ก่อน ในใจนางรู้อยู่ ไม่ใช่ว่าชาววังใจคออำมหิตหรอก เพียงแต่นางมาดับความหวังของพิมพิสุทธิ์เช่นนี้ เหมือนมาฉกชิงสวามีของอีกฝ่าย จะไม่ให้แค้นได้อย่างไร วิลาสินีเปลี่ยนจากทึ้งผมมาขยี้ใบไม้แห้งกรอบตรงหน้าอย่างหัวเสีย

“บ้าเอ๊ย!! ใครอยากจะไปแย่งฝ่าบาทกับแม่พิมพิสุทธิ์นั่นด้วยเล่า!... แล้วฝ่าบาทก็ยิ่งผิดที่สุดเลย ควรจะตั้งนางเป็นวรชายาเสียตั้งนานแล้ว จะได้ตัดปัญหาไม่ต้องมาร่วมพิธีสยุมพรตั้งแต่ต้น!” บ่นฉอด ๆ แล้วก็ถอนใจเฮือก “แต่แบบนั้น ข้าก็คงต้องเป็นชายาของเจ้าชายคนอื่นไปแล้ว ตอนนี้คงได้โดนข่มขืนจนตั้งท้องอยู่เสียรึเปล่าไม่รู้... จะเรียกว่าโชคดีหรือโชคร้ายดีนะ”

ความคิดคำนึงหวนกลับไปยังม้วนอักษรปริศนาในห้องนอน วิลาสินีแอบเก็บม้วนกระดาษของกฤตพรตที่มีภาพศีรษะคนและชื่อของนางไว้ในหีบไม้หอม นางแอบหยิบมาดูบ่อยครั้ง บางทีมันอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่รั้งให้นางสงสัยเกี่ยวกับกฤตพรตและยังอยู่ที่วังหลังทั้งที่คิดหนีหลายหน เพียงแต่นางไม่ได้เจอกฤตพรตเลย เจ้าชายหนุ่มไม่เคยเรียกหานางหรือสนมคนไหนแม้สักครั้ง ครั้นจะไปเข้าเฝ้าเองโดยไม่มีเหตุก็ดูชอบกล นางกำนัลจากตำหนักกฤตพรตส่งน้ำมันใสขวดใหญ่มาสำหรับให้วิลาสินีเจิมหน้าผากตัวเองเหมือนแจ้งกลาย ๆ ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้มานั่งเจิมให้ทุกวันตามธรรมเนียมอีกแสนนาน

นกกินปลีตัวหนึ่งร่อนลงมากินเกสรบัว วิลาสินีมองท้องสีเหลืองเด่นของมันอย่างเอ็นดู ดูเหมือนนกจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถเข้านอกออกในพระราชวังได้อย่างเสรี ลำแขนนวลน้ำผึ้งยื่นออกไปที่ดอกบัว แล้วนกกินปลีก็กระโดดซ้ายทีขวาทีอย่างลังเล ก่อนจะบินมาเกาะที่ข้อมือของนางและร้องทักทาย

คราวนี้น้ำตาวิลาสินีเกิดปริ่มขึ้นมาจริง ๆ เสียงของมันเหมือนเสียงที่แว่วอยู่ตามแมกไม้ป่าประดู่ไม่มีผิด นี่เป็นนกตัวแรกที่กล้าเข้ามาหานางตั้งแต่มาอยู่วัง ปกติแล้วนกในเมืองไม่ค่อยเข้าใกล้คนนัก มักจะรีบบินหนีอยู่เสมอ นางเอ่ยทักว่า “มาจากไหนหรือจ๊ะ มาจากป่าประดู่รึเปล่า”

เจ้านกกินปลีกระพือปีก โยกตัวอยู่บนข้อมือนางและร้องอีก วิลาสินีตีความสิ่งที่มันสื่อไม่ออก แต่มันก็ยินดีจะผูกมิตรกับนาง สักพักมันก็กระโดดกลับลงไปหาเกสรหอมหวานในดอกบัว ก่อนทำท่าจะจากลา วิลาสินีเอื้อมมือไป

“อ๊ะ อย่าเพิ่ง... เจ้า...เจ้าจะไปแล้วหรือ” นางถามเสียงเบา ยิ้มขม “พาข้าไปด้วยสิ ให้ตายเถอะ ให้ข้ายืมปีกนั้น ข้าอยากบินออกจากวังนี้จัง”

นกกินปลีได้แต่ร้อง มันโดดขึ้นมาขยุ้มเอาปิ่นปักผมของนางร่วงไปพร้อมกับผ้าคลุม จากนั้นก็วนกลับมาเกาะที่ข้อมืออีกครั้ง จะงอยคมจิกลงที่มือของนางจนเลือดไหล ก่อนจะร้องเลียนเสียงอะไรบางอย่างเป็นจังหวะดังก้อง วิลาสินีใช้มือกุมแผลไว้ตามสัญชาตญาณเพื่อให้เลือดหยุดแต่กลับไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร นางมองเจ้านกนั้นอย่างตกอยู่ในภวังค์ สายโลหิตฤๅษีอันเป็นสิทธิ์โดยกำเนิดของนางไหลเวียนพาให้ร้อนและเย็นไปทั่วสรรพางค์

แล้วนกกินปลีก็บินออกไปทางทิศใต้... ประตูวังด้านหลังอยู่ทางนั้น เช่นเดียวกับภูเขาอันเป็นที่ตั้งของป่าประดู่ มวยผมของวิลาสินีค่อย ๆ ทิ้งตัวสยาย

แล้วใจนางก็พาให้ฝีเท้าวิ่งไป... วิ่งไปราวกับสายลมที่ตัดผ่านไพรพนา

***

เจ้าฐิรังกาทั้งสามขับม้ามาใกล้จะถึงประตูวัง เหล่าองครักษ์และทหารที่ติดตามมากลุ่มเล็ก ๆ พากันเงียบอย่างใจคอไม่ดีขณะที่กฤตพรตและสิงห์ศัตรุตเถียงทะเลาะกันมาแทบตลอดทาง และมีทีท่าจะเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ

“ข้าเกือบจะชนะพวกมันได้อยู่แล้ว! ครั้งหน้าหากเรียกทัพกลับแบบนี้อีก ข้าจะไม่ฟังแล้ว!” เจ้าสิงห์ศัตรุตกริ้วหนัก เหวี่ยงหมัดมาทำท่าเหมือนกำรวบบางสิ่งในอากาศตรงหน้า “เรือพวกมันอยู่ตรงหน้าแค่นี้! ไม่ถึงครึ่งโยชน์เท่านั้น เจ้าพี่พรตกลับทำลายโอกาสทุกอย่าง!”

“ก็ลองดูว่าเจ้าจะทิ้งชีวิตตัวเองในทะเล” กฤตพรตขู่ลอดไรฟัน ข่มเสียงไว้มากแล้วแต่ก็ยังกังวานยะเยือกได้ยินไปทั่วหมู่ทหาร “พายุมรสุมจะมาถึงอย่างช้าก็คืนนี้... ถ้าเจ้าโง่เขลานัก ก็เชิญล่องเรือพาคนของเรากลับไปตายพร้อมกับพวกญานปุตต์ได้”

“ข้าโง่เขลา!? เจ้าพี่พรตเถอะ รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับสมรภูมิจริง ๆ โอกาสงามแบบนั้นมีแค่หนึ่งในร้อย แล้วกว่าหน้ามรสุมจะผ่านไป โอย! ป่านนั้นมันเรียกกองหนุนยกมาหมดเมืองแล้ว ทำสงครามต่อเนื่องได้เป็นสิบปี จะรบไปให้ได้อะไรอีกจนแก่เฒ่า เจ้าพี่ให้ข้าเข้าไปถวายบรรณาการแก่มันเสียเลยเป็นไร” เจ้าชายองค์สุดท้องประชดขณะดึงเกราะแขนซ้ายออกมาแรง ๆ อย่างหงุดหงิด ผ้าพันแผลข้างใต้เริ่มมีเลือดซึมอีกแล้ว

กฤตพรตพูดเสียงเย็นชา “กล่าวละเมิดพี่อีกคำหนึ่ง ศัตรุต แล้วพี่จะสั่งให้กลับไปเดี๋ยวนี้เลย”

“ไปหากระไร ไปตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว”

เจ้ารามราเมศกระแอม ส่งเสียงปรามขณะเดินม้าคั่นกลางระหว่างเชษฐาอนุชาที่กริ้วใส่กันฟ่อด ๆ ยกมือขึ้นเป็นเชิงให้หยุดเมื่อเห็นว่าถึงเวลาที่เขาควรจะห้ามแล้ว ก่อนที่จะท้าทายกันจนบานปลายไปกว่านี้

เจ้าชายทั้งสามทั้งเหนื่อยและหงุดหงิดกับสงครามกลางทะเลที่ยืดเยื้อมาสองเดือน อะไร ๆ ก็ทำให้พิโรธได้ง่ายไปเสียหมด กฤตพรตกับสิงห์ศัตรุตปะทะกันมาหลายยกแล้วตั้งแต่อยู่บนกองเรือ คนหนึ่งรอบคอบ อีกคนหนึ่งห้าวหาญ แผนการรบย่อมต่างกันเป็นธรรมดา

สี่วันที่ผ่านมา เจ้าสิงห์ศัตรุตไล่ตามกองเรือหลวงของญานปุตต์อย่างไม่ลดละ เจ้าชายญานปุตต์ฝาแฝด นฤเบศร์กับนฤบดินทร์ แยกกันรบอย่างมีชั้นเชิง

เจ้านฤเบศร์ตั้งทัพเรือเป็นรูปลิ่มประหนึ่งว่าจะเข้าปะทะ แต่แล้วกลับหักเลี้ยวไม่เข้าในรัศมีธนู ล่อให้ฝ่ายฐิรังกาตามเข้ามาในเขตน้ำตื้นที่เกิดจากปะการัง นับว่าได้ศึกษาข้อมูลมาดีพอสมควรทีเดียว เพราะเรือฐิรังกาใหญ่และท้องเรือกว้างลึก ไม่สามารถเข้าเขตน้ำตื้นมาก อาจจะติดเกยได้ง่าย ๆ

จากนั้น เจ้านฤบดินทร์นำทัพเรือเล็กเข้ามาขนาบอีกข้าง ทั้งสองฝ่ายผลัดกันตามและหนี ใช้อุบายหลอกล่อไปมาจนไพร่พลเหนื่อยอ่อน

ดังนั้นเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง สิงห์ศัตรุตเห็นช่องที่จะตามเข้าไปประชิดเรือหลวงได้ เพราะนฤเบศร์ถูกบีบให้หนีออกนอกเขตปะการัง เขาจึงรีบบัญชาเรือให้ติดตามไป สิ่งของอะไรที่มีน้ำหนักมากก็สั่งทุ่มทิ้งลงทะเลหมด กระทั่งหีบโลหะและเสบียงอาหารมากมาย หาได้เสียดายแต่สักนิด หวังเพียงเพื่อให้ตัวเรือเบาลงมากที่สุดจะได้สามารถเข้าในเขตเนินทรายรอบปะการังไปดักหน้า

อย่างไรก็ดี ก่อนจะทำได้ดั่งใจ ก็มีคำสั่งให้หันเรือกลับฐิรังกาจากกฤตพรตโดยตรง มรสุมลูกมหึมากำลังมุ่งฉิวมาทางนี้ สิงห์ศัตรุตขัดใจนัก กระฟัดกระเฟียดจะไปต่อแต่กฤตพรตก็ขู่จะลงอาญาทหารหากไม่ยอมถอย สิงห์ศัตรุตอดคิดไม่ได้ว่าเป็นพระประสงค์ของทวยเทพที่จงใจช่วยเหลือศัตรู

น่าน้อยใจนัก ทั้งที่เขาเซ่นสรวงพระสมุทรอย่างดี ยิ่งคิดก็ยิ่งอยากกำจัดพวกญานปุตต์ให้สิ้นซากโดยเร็วมากกว่าปล่อยให้ศึกยืดเยื้อ

“เย็นไว้เถิดน้องรัก เรากลับมานับว่าถูกแล้ว พวกญานปุตต์ได้ใจ อาจจะรุกคืบเข้ามาในน่านน้ำแล้วหยุดเรือ ต่อแพติดกันเป็นฐานทัพในทะเลตามธรรมเนียม ถ้าเป็นแบบนั้นก็โดนมรสุมพัดกระจุยไปทีเดียวทั้งหมดแน่ ไม่เปลืองแรงเราอย่างไรเล่า” รามราเมศชี้นุ่มนวลอย่างพยายามจะปรองดอง “อย่าโทษเรื่องฟ้าฝนใส่เจ้าพี่พรตเลย ศัตรุต เจ้าลงแรงหนักหนาในครานี้ที่ตีเรือเล็กของเจ้าญานปุตต์จมได้ตั้งครึ่ง พี่จะรางวัลให้”

“ขอบพระทัย แต่อย่าเพิ่งเลยเจ้าพี่ รอเสร็จศึกนี้ก่อน หากชนะอย่างหมดจดข้าจึงรู้สึกว่าสมควรได้รางวัล”

“เถอะน่า บำรุงขวัญหน่อยจะเป็นไรไป..” รามราเมศหันมา หยุดพูดเมื่อเห็นกฤตพรตดึงบังเหียนชะงักม้าเสียเฉย ๆ เจ้าอาชาทรงคู่ใจส่งเสียงร้องที่นายเหนือของมันสั่งหยุดอย่างแรงโดยไม่รู้เหตุผล “อ้าว...เจ้าพี่?”

“มีคนของพี่หายไป” กฤตพรตตอบสั้น ๆ เป็นอันเข้าใจว่าเขาสัมผัสได้ด้วยเวทวิทยา เจ้าชายหนุ่มเรียกทหารองครักษ์เข้ามาสั่งให้ไปตรวจดูเพราะไม่รู้แน่ชัดว่าใครหายไป จากนั้นก็หันมาหาน้องชายผู้ร่วมใจ “ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เราไปเตรียมเรื่องมรสุมดีกว่า พี่เกรงว่ามันจะมาเร็วกว่าที่คาดไว้”

ในหน้ามรสุมการบริหารจัดการความปลอดภัยเคร่งครัดกว่าปกติ โดยเฉพาะระหว่างสงครามเช่นนี้ ชาวเรือไม่ได้รับอนุญาตให้ออกทะเลตามอำเภอใจ นอกจากนี้ต้นไม้สูงใหญ่ในเมืองจำเป็นต้องตัด เพราะลมพายุมักจะพัดกระหน่ำจนหักโค่นลงมาทับบ้านเรือน กฤตพรตให้พวกฤๅษีช่วยทำพิธีตัดต้นไม้แก่ ๆ ผุพังที่น่าจะล้มได้ง่ายทั่วมุมเมืองไปแล้วก่อนหน้านี้แต่ก็ยังต้องการจะตรวจดูอีกครั้งให้แน่ใจ นอกจากนั้น หมอและยาก็ต้องพร้อมรับมือโรคระบาดที่จะมากับฝนและน้ำท่วม

รามราเมศพยักหน้า “ไปที่ท้องพระโรงก่อนเถอะ ข้าจะให้หมอหลวงมาทำแผลให้ระหว่างที่พวกเราคุยกัน”

บางสิ่งคล้ายจะกระตุกเบา ๆ ที่ท้ายทอยกฤตพรตราวกับสัญญาณเตือน เจ้าชายหนุ่มสางผมอย่างเหนื่อยอ่อน รู้สึกถึงเวทนี้แต่ไม่แน่ใจนักว่าคืออะไร... มันไหลลงมาขดแน่นอยู่ในอก แล้วก็คืบคลานขึ้นมายังคอ จนกระทั่งอุ่นชาที่ริมฝีปาก สัมผัสลักษณะนี้เป็นผลจากอาคมที่ร่ายด้วยวจี แปลก...กฤตพรตคิดว่าเขาไม่ได้บริกรรมคาถาอะไรด้วยวาจามานานแล้ว

เจ้าชายหนุ่มขมวดคิ้วเล็กน้อยและพยายามนึกหาสาเหตุของมัน ขณะที่ปากสั่งการให้เสนาอำมาตย์มาเข้าเฝ้า

***

วิลาสินีดึงส่าหรีออกยกขึ้นเป็นผ้ากันฝนขณะเดินตัดผ่านตลาดท้ายวัง ลมแรงกระหน่ำพัดมาจากทางเหนือเป็นสัญญาณของพายุ ท่าทางฤดูมรสุมจะมาเร็วในปีนี้ พ่อค้าแม่ขายหลากเชื้อชาติรีบเก็บข้าวของ ขณะที่คนซื้อก็พากันหิ้วของพะรุงพะรังวิ่งกลับบ้านช่อง ผัก ดอกไม้ และของน้ำหนักเบาทั้งหลายปลิ่วว่อน ภาชนะจักสานหมุนกลิ้งไปตามถนน ฝนเม็ดเล็ก ๆ เริ่มตกปรอยลงมาแล้ว

“ออกจากวังปุ๊บฝนเทปั๊บอีก ดวงซวยอะไรแบบนี้น้อ...”

แม้จะบ่นไปอย่างนั้น แต่เพียงนาทีแรกที่ลอบปีนต้นไม้ออกจากกำแพงวังได้ วิลาสินีรู้สึกราวกับได้ขึ้นสวรรค์ นางวิ่งไม่หยุด มือทั้งสองข่วนแกะเครื่องประดับอันล้ำค่าโยนทิ้งไปเสียระหว่างทาง ผ้ากรองคอที่ปักดิ้นทองคำก็สะบัดปลิวหายไปแล้วโดยไม่รู้ตัว ราวกับนักโทษที่กระชากโซ่ตรวนจนขาดสะบั้น นกตัวนั้นชี้ทางออกให้กับนาง สะกดจิตนางได้อย่างสิ้นเชิง และนางคืนสติอีกครั้งพบว่าตัวเองคุดคู้หลบพวกทวารบาลอยู่ใต้ร้านพรมร้านหนึ่งในตลาด ก่อนที่ลมมรสุมจะพัดมาและทุกคนรีบเก็บร้านเข้าหนีไปกันหมด

ถามทางใครก็ไม่ได้ นอนข้างถนนก็ไม่ได้ ดูเถอะ ชีวิตเมืองสะดวกสบายที่ใด หากเป็นในป่าประดู่ นางก็หาถ้ำหรือร่มพฤกษาใหญ่นอนพักได้สบายแล้ว ทั้งยังสนทนากับสัตว์ที่อาศัยในบริเวณเดียวกันได้จนดึกดื่น

วิลาสินีเหลียวซ้ายแลขวา หาที่กำบังในตรอกเล็ก ๆ ตัดสินนั่งลงอยู่ที่ตีนบันไดใต้ชายคาบ้านร้างหลังหนึ่งที่ประตูใส่กลอนขนาดใหญ่ไว้ ตะกร้าใส่ผักผลไม้ของใครสักคนลอยหวือผ่านหน้า ซึ่งสาวชาวป่าก็เอื้อมคว้าไว้ได้อย่ารวดเร็วไม่น่าเชื่อ นางตะโกนหาเจ้าของฝ่าเสียงฝน แล้วเมื่อไม่มีใครมารับจริง ๆ จึงเลิกผ้าคลุมตะกร้าออกหยิบผลลิ้นจี่ภายในที่เหลือรอดจากกำลังพระพายมาพลิกดูในมือ ก่อนปอกกินประทังความหิวในที่สุด

จนกระทั่งลมเริ่มอ่อนแรงลง กลายเป็นฝนเม็ดโต ๆ ตกลงมากระทบผิว วิลาสินีจึงเริ่มย่ำเท้าไปบนถนนน้ำนองอย่างระมัดระวัง ทางที่ดีที่สุดนางควรอาศัยนอนที่เทวสถานใดสักแห่ง เหมือนอย่างคนจรทั่ว ๆ ไป หญิงสาวไม่รู้ที่ทางในกรุงนัก เขม้นมอง ๆ หาผ่านม่านฝน เห็นยอดแหลมของมณฑปวิหารสูงลิบอยู่ไม่ไกลนักจึงรีบมุ่งหน้าไป

“พรุ่งนี้จะถึงป่าประดู่ไหมนะ เงินก็ไม่มีสักแดง”

หญิงสาวถอนใจเฮ้อ ถลกผ้านุ่งขึ้นมาแล้วจ้ำ ๆ ๆ ตัดผ่านลานกว้างที่ชาวบ้านเอาเครื่องในกับมันสัตว์มากองเผาสังเวยแด่พระสมุทร นางใจเร็วเกินไปหน่อย หนีออกมาแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่มีอะไรติดตัว แต่มันก็สุดจะทนแล้ว คับที่อยู่ได้ แต่คับใจจะอยู่ได้ไฉน

นางลื่นไถลเกือบหน้าคว่ำตรงบันได หัวเราะตัวเองเสร็จก็พาร่างเข้ามาในโถงวิหารด้วยสภาพม่อล่อกม่อแลก วิหารนี้ไม่ใหญ่นัก ไม่ใช่วิหารหลวงจึงมีนางพราหมณีแค่ไม่กี่คน จุดตะเกียงภายในไว้ริบหรี่ มีคนจรและชาวบ้านหลายคนนั่งนอนอยู่ตามมุมต่าง ๆ วิลาสินีปาดน้ำออกจากหน้าและบิดผม ตัวเริ่มจะสั่นเพราะความหนาว นางจึงเดินเข้าไปด้านในเพื่ออิงไฟจากแท่นบูชา

เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งนั่งชันเข่าอิงไฟอยู่ ล้อมวงฟังเรื่องเล่าจากสองผู้เฒ่าเคราขาว เฒ่าคนหนึ่งสวมสายกายพันธ์คล้องตราศิลาวัฒกี บ่งบอกว่าเป็นช่างแกะสลักหิน ส่วนอีกคนกอดพิงกลองหนังช้างไว้ ทีท่าน่าจะเป็นวณิพก มีแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งสัปปะหงกอยู่ใกล้ ๆ วิลาสินีเข้าไปนั่งบ้าง แสงไฟกระทบใบหน้าของนางเรียกให้บุรุษในที่นั้นหันมามอง

“จุ๊ ๆ งามล้ำเหลือ แม่วิราคิตา (นางผู้มีรูปร่างอ้อนแอ้น เป็นคำชมหญิงงาม) เอ๋ย แม่ช่างสง่าศรีโสภณ” วณิพกผู้เฒ่าว่า ส่ายหัวน้อย ๆ “มาแต่ไหนกันแม่ ข้าแก่ปานนี้ ยังไม่เคยเห็นใครงามเท่า เจ้าบดีของแม่คงรักหัวปักหัวปำ”

“แน่ล่ะ ดูมรกตหัวแหวนแม่ซิ ข้าดูเพชรพลอยไม่เป็น แต่ใหญ่ขนาดนี้น่าจะซื้อวัวควายได้เป็นร้อย พระสมุทรทรงเมตตา ถ้าลูกสาวข้างามได้สักครึ่งหัวกระไดคงไม่แห้ง”

“ฮะ ๆ ๆ ข้าลอยแล้วจ้ะ มาแต่ไหนก็ช่างเถอะพ่อ คืนนี้ข้าจะขอแบ่งที่นอนด้วยตรงนี้แหละ” วิลาสินีตอบแข็งขันขณะสะบัดส่าหรี โชคดีที่นางถอดเครื่องประดับชาววังทั้งหลายออกไปหมด ไม่งั้นคงรุงรังพิกล “พ่อล่ะไปยังไงมายังไงมาอยู่นี่”

“จะกลับบ้านนี่แหละ ข้าอยู่ริมทะเลทางเหนือ แต่โอ๊ย! พระพิรุณกลั่นแกล้ง ใครคงทำท่านโมโหโทโส เสกมรสุมมาก่อนฤดู ไปไหนก็ไม่ได้ ที่พักก็ไม่มี” ว่าแล้วทุกคนก็วิพากษ์วิจารณ์อากาศกันขรม การเดินทางในสมัยนั้นไม่สะดวกสบายนัก “แต่ดีแล้วล่ะ จะได้พัดพวกข้าศึกแตกพ่ายไป อยากมาท้าเจ้าทะเลรบก็จะได้เห็นดีกัน”

“หิวรึเปล่าพี่ ลองคุ้ย ๆ ดู มีเม็ดขนุนอยู่” เด็กหนุ่มคนหนึ่งส่งเหล็กเขี่ยไฟให้ มานพน้อยทั้งกลุ่มคล้องผ้ารอบคอและไม่ใส่เครื่องประดับ มือแขนหยาบกร้าน คงจะเป็นช่างอะไรบางอย่าง แต่วิลาสินียังดูไม่ออกจึงว่า

“ขอบคุณมาก ทำอาชีพช่างอะไรกันจ๊ะ” นางเขี่ยเม็ดขนุนที่พวกเด็กหนุ่มนำมาหมกไฟไว้ออกมาดู ปอกเปลือกบาง ๆ ออกเหลือแต่เยื่อสีน้ำตาลหุ้มเนื้อในเหลืองนวล มือเรียวบิดูว่าสุกเต็มที่แล้วจึงเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ไม่มีรักษากิริยา สำหรับนางอย่างนี้ค่อยเข้าท่า ตอนอยู่วังเห็นชาววังกินแต่เนื้อผลไม้แล้วทิ้งเมล็ดทุกที นางแสนจะเสียดาย

พวกเด็กหนุ่มตอบพร้อมเพรียง “เป็นช่างปั้นหม้อ อยู่หมู่บ้านกุมภการทางใต้”

“อ๋อ! พี่รู้จัก!” วิลาสินียิ้มร่า “อยู่ใกล้หมู่บ้านชายป่านิดเดียวเองนี่ ถ้วยชามรามไหทุกชิ้นใช้ของฝีมือพวกน้องกันทั้งนั้น”

“พี่อยู่หมู่บ้านชายป่าประดู่หรือ” เด็กหนุ่มที่ส่งเหล็กเขี่ยไฟให้อ้าปากหวอ พิจารณารูปโฉมของนางอีกครั้งแล้วหน้าแดง “พี่นางฟ้าเป็นพรานหรือเนี่ย ไม่อยากเชื่อเลย”

“มากับเราสิ วันพรุ่งนี้เมื่อฝนซา พวกเรามีเกวียน ลงที่หมู่บ้านเราอีกนิดเดียวก็ถึงหมู่บ้านพี่” เด็กหนุ่มผิวแดงที่ดูจะเป็นหัวหน้ากลุ่มว่า ช่างแกะหินผู้เฒ่าตบเข่าเขาทันที

“พูดอะไรอย่างนั้นไอ้หนุ่ม ให้นางเดียวไปขึ้นเกวียนกับพวกเอ็ง”

“ปัดโธ่ ข้าไม่ได้คิดอะไร พี่เขามีสามีอยู่แล้วก็ติดรถไปด้วยกันเท่านั้น อีกอย่างพวกเราเป็นชาย ก็ย่อมเดินเท้าเอาอยู่แล้ว บนเกวียนมีแต่หม้อดิน หม้อมันไม่ทำอะไรพี่เขาหรอก หากแม้นคนอื่นอยากไปใต้ด้วยข้าก็จะให้ไป”

วิลาสินีหัวเราะ “ขอบคุณน้ำใจพวกเจ้านะ ใจดีจัง แต่ไม่เป็นไรหรอก พี่กลัวจะทำหม้อพวกเจ้าเสียหายมากกว่า วัวเทียมเกวียนก็หนักแย่”

พวกเขาโบกไม้โบกมือ “เราขายไปเยอะแล้ว ที่ออกเหลือเฟือพี่”

จำนวนคนในวิหารทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่างคนต่างจ้อสารพัดเรื่อง เปลี่ยนหัวข้อไปมาแทบจับความไม่ทัน เพราะข่าวสารหลักในสมัยนั้นก็คือสื่อด้วยปากต่อปากนี่เอง ใครรู้เหตุการณ์อะไรใหม่มาจึงต้องรีบพูด ไม่พึงเก็บเงียบไว้ผู้เดียวเพื่อเป็นการเตือนกัน วิลาสินีได้ฟังเรื่องราวจากคนจรต่างถิ่นที่หนีมาจากเมืองในภาคพื้นทวีปซึ่งทัพญานปุตต์เข้าครอง และจากพ่อค้าที่ขายเสบียงให้กองทัพฐิรังกา ทำให้นึกห่วงกฤตพรตขึ้นมาเล็กน้อยอย่างช่วยไม่ได้

พิลึกดี นางอยู่ในวังหลังตำหนักกฤตพรตกลับไม่รู้ข่าวที่น่าสนใจเหล่านี้เลย วัน ๆ ผ่านไปอย่างเบื่อหน่าย กดดัน และโง่เขลา ท่ามกลางกลิ่นดอกไม้ที่โดนบังคับร้อย แต่คนนอกวังกลับคล้ายรู้ความเป็นจริงมากกว่า ยิ่งคุยนานไปวิลาสินีก็นึกชมชอบพวกชาวบ้านมากกว่าชาววังเป็นกอง

คืนนั้นวิลาสินีหลับไปด้วยความเหนื่อยอยู่ใกล้ ๆ แท่นบูชา ทั้งที่ผมและเสื้อผ้ายังไม่แห้งดี แต่นางก็พยายามผึ่งตัวที่สุดแล้ว ขนาดหลังจากนางหลับก็ยังมีคนเข้ามาผิงไฟเรื่อย ๆ ฝนตกไม่หยุดหย่อนทั้งคืน ลมพัดเดี๋ยวแรงเดี๋ยวเบาทำนายไม่ถูก พาฝนสาดเข้ามาด้านหน้าทำให้คนบางส่วนย้ายเข้ามานอนด้านในด้วย พวกเขาหลับเรียงกันอุตุเป็นแถวเต็มพื้นพรมเก่าขาดของวิหาร

***

กฤตพรตทิ้งตัวลงกับพระแท่น มือแกะดึงสายสังวาลและผ้าทรงผืนเล็กของบุรุษออกแรง ๆ อย่างเหน็ดเหนื่อยปนหงุดหงิด ปากคอเขาร้อนไปหมด ลิ้นชาจนแค่สั่งการเสนาอำมาตย์ให้เตรียมทางระบายน้ำก็ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด ด้านนอกลมแรงฝนสาดกระหน่ำ นางกำนัลจึงจัดการหับหน้าต่างประตูเสียหมด กฤตพรตยิ่งรู้สึกคล้ายจะหายใจลำบาก

นี่มันอะไรกัน... เวทอะไร... ตลอดสองเดือนในสงครามนี้เขาไม่ได้ร่ายอาคมใด ๆ เป็นคำพูดเลย มีแต่กรีดโลหิตและกำหนดจิตตามปกติ แต่ความร้อนที่เต้นอยู่นี้เตือนชัดว่า มีบางอย่างที่เขาเอ่ยด้วยวาจาอาจกำลังสุ่มเสี่ยงจะถูกละเมิดได้

ราชองครักษ์กลับมารายงานว่านักสิทธิ์วิทยาในอาณัติของเขายังอยู่ทำหน้าที่ปกติ ไม่มีใครหนีงานหายไปแต่อย่างใด แต่ความรู้สึกที่ว่ามีคนของเขาก้าวออกไปนอกเขตอาคมในตอนนั้นเป็นของจริง... กฤตพรตสงสัยว่าคนคนนั้นอาจจะกลับเข้ามาแล้วก็เป็นได้ ตราบที่ผู้ทรงเวทยังอยู่ทำหน้าที่อารักขาพระนครกันครบถ้วนตามปกติก็ไม่มีปัญหา

ก๊อก ๆ ๆ ก๊อก ๆ ๆ

เสียงเคาะระรัวตรงหน้าต่างเรียกให้เจ้าชายหนุ่มมุ่นขนงแทบเป็นขด ลุกขึ้นมาแง้มหน้าต่างออกเพียงนิดเดียวนกน้อยสีเหลืองสองตัวก็มุดบินเข้ามา ปีกกระพือสะบัดน้ำกระเด็นทั่ว กฤตพรตถอนใจ โยนผ้าทรงที่เพิ่งถอดหมาด ๆ ให้พวกมันใช้ถูเช็ดเนื้อตัวเปียกปอน “กลับรังไม่ทันล่ะสิ ได้กลับพรุ่งนี้เช้าแน่”

นกกินปลีและนกกระจาบทองพากันมุดหัวซุกไซ้ผ้าทรงอย่างยินดี คุยร้องกันเสียงดัง กฤตพรตเอนกายลงกับหมอนอย่างเก่า ทั้งเหนื่อยกาย และทั้งรำคาญใจกับสัญญานเตือนของเวทที่ปาก เขาเพิ่งจะได้กลับจากสงครามมาบ้าน ไม่แคล้วต้องไปดูแลเรื่องรับมือมรสุม แล้วนี่ปากคอจะร้อนชาอึดอัดจนไม่ได้นอนอีกละหรือ

รุ่งเช้าเมียข้าจะต้องด่าตีเป็นแน่แท้! นกกระจาบทองโหวกเหวกโวยวาย ฝนตกเช่นนี้นางต้องกกลูกผู้เดียว แล้วลูกน้อยของข้าเล่า ลมพัดตกรังไปจะทำฉันใด! มันกระโดดไป ๆ มา ๆ อยู่บนพานเครื่องหอมที่เหลือขี้เถ้าเงินอยู่เพียงเล็กน้อย

“ระวังเปื้อนล่ะ” กฤตพรตพูดทั้งยังหลับตาพาดคอกับหมอน ยกมือนวดขมับ ไม่ทันขาดคำ นกกินปลีก็กระโดดขึ้นไปชนเพื่อนเซไปถูกกองขี้เถ้าเต็มเปา นกกระจาบทองกรีดเสียง สะบัดหัวดุ๊กดิ๊กขณะที่ขี้เถ้าฟุ้งกระจาย บัดนี้ดูมันจะกลายเป็นนกกระจาบเงินแทนเสียแล้ว

'ฮะ ๆ ฮ่า ๆ ๆ ๆ เอิ๊ก! ฮ่ะ ๆ ๆ ๆ'

'หนอย... นี่แน่ะ!'

'เฮ้ย! โอย..แค่ก ๆ …ฮะ ๆ ๆ ๆ อ้ายกระจาบหงอก!'

'เอ็งก็หงอก! ฮ่า ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ !'

คิดไว้ไม่มีผิด กฤตพรตถอนใจ พวกนกเป็นสัตว์ที่ช่างเจรจาและสามารถเที่ยวไปไกล พบเห็นภูมิทัศน์น่าสนใจมากมายนัก เขาจึงชวนมาให้พวกมันเล่าอะไรต่าง ๆ ให้ฟังด้วยบ่อยกว่าสัตว์อื่น

แต่พวกมันช่างสงสัยและเสียงดังเอะอะถึงขั้นชวนปวดหัวได้ง่าย ๆ เจออะไรเห็นสนุกเห็นขันไปเสียทุกอย่าง เสร็จแล้วบางทีก็ขี้ตกใจกับสิ่งที่ตัวเองเล่นเองเสียอีก สติปัญญาพวกมันอาจจะไม่สูงนัก แต่ความบริสุทธิ์เสรีนั้นสูงยิ่ง

“เบาเสียงหน่อย”

'ดูก่อน วันนี้ข้าลักกินไข่ของนางนกกระทาแก่ที่ลานข้างแม่น้ำได้'

'อา...ข้าก็เจอดอกบัวปุณฑริกบานแฉ่ง นับเป็นวันที่ดีจริง ๆ !'

'ที่ไหน ๆ สระน้ำของเจ้าชายพรตนี่หรือ'

'ใช่แล้ว สระน้ำของเจ้าชายพรต ข้าเจอปิ่นทองอันหนึ่งด้วย งามเหลือเกิน! ใหญ่! แวววาว! ระยิบระยับ!'

กฤตพรตลืมตาขึ้นมานิดหนึ่ง “กระไร นางกำนัลทำตกไว้หรือ ที่ไหนนะ”

'สระน้ำนี้ไง สระที่มีแต่บัวขาวอร่อย เจ้าชายพรต ทั้งสองตัวแย่งกันตอบ ก่อนที่นกกินปลีจะเล่าเป็นต่อยหอย สายตาข้าดีกว่าใคร เห็นแสงวิบวับนั่นซ่อนอยู่หลังตาข่ายเขียว! ประกายทองสวยเหลือเกิน!'

เจ้าชายหนุ่มเริ่มแก้เข็มขัดออก ถอดผ้ารัดพัสตร์ (แถบผ้ารัดสะเอว ใช้ผูกทับหลังสวมกางเกงให้แน่น) ที่ปล่อยชายห้อยหน้าไว้ เหลือแค่สนับเพลา มือลองไล้ดูตามแนวขาช้ำระบมเนื่องจากขี่ม้าศึกนานเกินไปในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา เขาลุกขึ้นนั่งดี ๆ เพื่อจะเยียวยารอยแผลแสบบวมเหล่านั้น ทวนคำของนกน้อยว่า

“ตาข่ายเขียว?”

'ตาข่ายสีเขียวเข้มเหมือนใบมะกรูด ข้านี้จับมันออกมาได้พร้อมปิ่น นิ่มลื่นและเบาจนเกี่ยวเท้า ไม่เหมือนตาข่ายของพวกพรานแม้สักนิด'

กฤตพรตทำเสียงในคอเบา ๆ เป็นเชิงรับรู้ เจ้านกกำลังพูดถึงผ้าคลุมผมบางใสสีเขียวเป็นแน่ นางกำนัลคงตกใจน่าดูที่มีนกมาดึงปิ่นจากผม

แต่ปกตินกก็กลัวคนเกินกว่าจะทำอย่างนั้น

“นึกอย่างไรจึงทำเช่นนั้น ไม่กลัวนางผู้อยู่ใต้ตาข่ายนั้นหรือ”

'ไม่เลย เจ้าชายพรต ไม่เลย!' นกกินปลีพองอกสีเหลืองเด่น สะบัดสั่นด้วยความพึงใจบางอย่าง 'นางมีตาที่ใจดีเหมือนกวาง นางบอกว่าอยากให้ข้าคุยด้วย ถึงนางจะพูดไม่เก่งอย่างเจ้าชายพรต'

มาถึงตรงนี้ กฤตพรตชะงักมือ ตวัดสายตาฉับมามองนกกินปลีที่เล่าให้เขาฟังอย่างกระตือรือร้น มันจ้องเขาตาแป๋ว ชายหนุ่มถามช้า ๆ

“...นางพูดกับเจ้าได้แบบที่เราพูดอยู่นี้หรือ”

'ใช่แล้ว นางร้องเป็นคำ ๆ ราวกับลูกนกขนไม่ขึ้น นางบอกให้คุยด้วย นางบอกว่าเหงา เสียใจ อยากกลับรัง จะขอยืมปีกของข้าไป จะบิน!' เจ้านกน้อยร้องร่าเริง กระพือปีกสาธิตจนตัวลอย 'ข้าก็เลยขอปิ่นระยิบระยับของนางตอบแทน แล้วข้าก็บอกให้นางกระพือปีกบิน บิน! แล้วนางก็บินไปกับข้า เราออกไปนอกประตูวังทางใต้ เจ้าชายพรต นางบินไปป่าประดู่โน่น!'

เสียงฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมา นกเหลืองทั้งสองตัวตกใจร้องลั่น เส้นเลือดบนริมฝีปากของกฤตพรตเต้นเร่า ความร้อนชาที่ลิ้นราวกับว่ามีรสชาติ

เขาเคยพูดไว้ ‘ข้าให้สัตย์สาบานจะปกป้องดูแลไม่ให้นางตกอยู่ในอันตราย ตราบที่ข้ายังมีชีวิตอยู่ นี่คือของขวัญแต่งงานจากข้า’

ร่างสูงลุกขึ้นเปิดประตูออกไปตะโกนเรียกนางกำนัลแข่งกับเสียงฟ้า หลายนางวี้ดว้ายกลัวรามสูร พาให้กฤตพรตมองเขม่นใส่จนต้องอุดปากตัวเองเงียบด้วยกลัวอาญา เจ้าชายหนุ่มไม่ใจดีกับข้าราชบริพารมากนักหากเทียบกับเจ้าฟ้าองค์อื่น

“ไปถามที่ฝ่ายในเดี๋ยวนี้ สนมกำนัลของเรายังอยู่ครบในวังหรือไม่ ชายาของเราอยู่ที่ไหน”

“ต...ต้องเดี๋ยวนี้หรือเพคะ” คนรับบัญชาเหลือบมองทางเดินระหว่างตำหนักที่มีแต่ลมฝนหวีดหวิว ต้นไม้โยกเอนราวกับจะถูกพระพายถอนราก

“เราพูดแล้ว ไม่มีหูหรือว่าไม่อยากมี”

“พระอาญามิพ้นเกล้า! หม่อมฉันจะไปเดี๋ยวนี้เพคะ”

***

บนพื้นพรมของวิหาร วิลาสินีหลับไม่ค่อยสนิทนัก แปลก นางฝันถึงกฤตพรต แต่เห็นเป็นกฤตพรตที่นางรู้จักในวัยเด็ก เขาเอาแต่ร้องเรียกชื่อของนาง มืออุ่นชื้นสั่นเทา ประคองแก้มของนางทั้งสองข้างด้วยสีหน้าหวั่นกลัว

‘วิลาสินี...วิลาสินี!’ เสียงในวัยเพิ่งแตกหนุ่มของเจ้าชายลำดับสองฟังดูไม่คุ้นหู “ตอบเรา!.. คุยกับเรา... นี่กี่นิ้ว ที่เราชูนี่กี่นิ้ว!?”

มือของเขาชูขึ้นมาหนึ่งนิ้ว เรื่องแค่นี้ทำไมจะต้องถามด้วยเล่า นางพยายามจะตอบเขา แต่กลับพูดออกมาไม่เป็นคำเหมือนกับลิ้นคับปาก กฤตพรตยิ่งดูราวกับจะร้องไห้ เขายกมือขึ้นวาดผ่านหน้าของนาง

‘งั้นหลับเถอะ... ไม่ต้องกลัวนะ’

วิลาสินีลืมตาตื่นมาด้วยคำนั้น เห็นหน้าของทารกน้อยกับแม่นอนอยู่ห่างไปไม่ถึงคืบ นางเองนั่นแหละที่นอนดิ้นไม่เรียบร้อย จนรุกล้ำไปกินที่สองแม่ลูกอ่อนเข้า

แสงแดดเช้าส่องรำไร ลมยังแรงอยู่แต่ฝนตกแค่ปรอย ๆ

“ฝันร้ายหรือพี่ นอนไม่เป็นสุขเล้ย...” เด็กหนุ่มกุมภการคนหนึ่งเอ่ยแซวหลังจากอรุณสวัสดิ์ วิลาสินียกแขนเหยียดตัว ขยี้ตาแล้วจัดเผ้าผมที่กระเดิดออกมานอกผ้าคลุม นางไม่ใช่สาวขี้อายอยู่แล้วจึงพยักหน้ารับ ผู้หญิงก็คน ทำไมจะนอนดิ้นไม่ได้ นางไม่เห็นว่าแปลก

“คงงั้นมั้ง ฝันเพ้อเจ้อน่ะ” มือนวลน้ำผึ้งยกขึ้นแตะหน้าผากแตะแก้มตัวเอง ไม่รู้สึกเป็นไข้หรืออะไรผิดปกติก็โล่งใจ คงจะแค่ฝันด้วยจิตนิวรณ์

นางออกไปล้างหน้าล้างตากับชาวบ้านที่หลังวิหาร ฝนตกจนตุ่มน้ำทุกตุ่มล้นไปหมด เด็กน้อย ๆ คะนองใจนักจึงวักเล่น สาดใส่แกล้งกัน เข้าหน้ามรสุมแล้ว จะใช้น้ำเปลืองเปล่าก็ไม่มีใครใส่ใจดุว่า

“นี่เจ้า!?” วิลาสินีร้องขณะหันหนี โดนเด็กหนุ่มช่างปั้นหม้อรุมแกล้งพรมน้ำใส่เอาจนได้ ไม่รู้เป็นวาสนาหรือเคราะห์ที่นางรูปงามน่ารักอย่างยิ่ง เป็นจุดสนใจให้คนมายุ่งด้วยอยู่เสมอ

“สดชื่นไหมพี่” เจ้าหัวหน้ากลุ่มผิวแดงยักคิ้ว จากนั้นก็ถอยกรูดพร้อมหัวเราะร่วนเมื่อวิลาสินียกกระบวยตักน้ำจากตุ่มขึ้นมาเต็มปริ่ม “เฮ้ย ๆ โธ่พี่ พวกข้าใช้มือจุ่มสะบัดนะ พี่จะเล่นหนักเลยหรือนั่น”

“กลัวหรือไง เข้ามาสดชื่นซะดี ๆ เลย!”

กว่าจะเตรียมตัวกันเรียบร้อยก็เริ่มสาย บรรดานางพราหมณีประจำวิหารนำข้าวยาคูหอมน้ำผึ้งออกมาเลี้ยง จากนั้นนักเดินทางที่เผอิญมาพึ่งชายคาวิหารเมื่อคืนก็บอกล่ำลากัน

“ไม่เปลี่ยนใจหรือพี่ มาได้อยู่นา”

เหล่าเด็กหนุ่มกุมภการกวักมือ เกวียนไม้ตะแบกของพวกเขาทั้งใหญ่ทั้งแข็งแรงเช่นเดียวกับพ่อโคถึก สมกับเป็นของช่างปั้นหม้อใช้บรรทุกเครื่องดินเผาน้ำหนักมากมาขาย ตอนนี้เหลือหม้อกุณฑี (เต้าน้ำแบบมีหู) อยู่สี่ห้าใบวางซ้อนกันเท่านั้น ที่ว่างที่เหลือบนเกวียนนั้นพวกเขาเชิญชวนคนที่จะเดินทางไปทิศใต้ให้ติดไปด้วยกัน

มีชาวบ้านทั้งเด็กทั้งแก่ขึ้นไปนั่งรอแล้ว วณิพกผู้เฒ่าก็เกิดจะอยากลองไปแสวงโชคทางใต้บ้าง เห็นเช่นนั้นวิลาสินีจึงตกลงใจขึ้นเกวียนไปด้วยอีกคน

เด็กหนุ่มช่วยกันหาหญ้าให้พ่อโคกิน ที่สุดก็เอายาคูให้มันกินด้วย “เอ้า! เพิ่มพลัง! ไหน ใครตัวหนักพ่อบอกมาเลยพ่อเอ๋ย ใครหนักข้าจะไล่ลง”

“เออ ข้ารู้ว่าข้าหนัก!” วณิพกโพล่ง เรียกเสียงหัวเราะ “พูดอยู่นั่นแหละแหม... มา ๆ ข้าตีกลองเป็นจังหวะให้ พ่อมหาจำเริญนี้จะได้สนุกลากไป ฮุย! ฮุย!”

เกวียนตะแบกโขยกเขยกไปตามถนนที่เป็นโคลนบางส่วนจากน้ำฝนขัง พอเข้าทางหลวงที่ปูศิลาแลงได้จึงค่อยแล่นสะดวก วิลาสินีดึงผ้าคลุมผมดำมาปิดหน้าไว้เผื่อว่าจะมีใครจำนางได้ เพราะนางเคยขี่กวางผ่านทางหลวงมาก่อน แต่ก็ยังไม่วายลุกขึ้นยืนจังกา ช่วยตะโกนร้องขายหม้อกุณฑีให้ จนเที่ยงก็สำเร็จขายออกไปสี่ใบ นางยิ้มกริ่มภูมิใจขณะที่เด็กหนุ่มตบมือกันกราว ตกลงซื้อแป้งห่อผักและพุทราเลี้ยงเป็นอาหารกลางวันให้ทุกคน

วิลาสินีนั่งห้อยขาจากหลังเกวียนขณะยกมือปิดหน้าแทะเล็มแป้งจี่ไฟ ภาพยอดปราสาทพระราชวังที่สูงกว่าสิ่งก่อสร้างใดในฐิรังกาค่อย ๆ ห่างจากนางไปเรื่อย ๆ

แอบมาเที่ยวสักหน่อยคงไม่เป็นไรกระมัง นางรู้หรอกว่าอย่างไรก็เป็นพระวรชายาแล้ว แต่เจ้ากฤตพรตก็ไม่อยู่วังตั้งนาน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นางคิดว่าจะกลับเสียก่อนกฤตพรตรู้ตัว

ดาวน์โหลดแอปทันทีเพื่อรับรางวัล
สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อดาวน์โหลดแอปHinovel