กรุ่นกลิ่นวัยเยาว์ (3)
ในท้ายที่สุด มลุลีคือผู้ถูกเลือกให้เป็นนางรำในการรำเปิดงานโรงเรียน
เธอใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนนั้นจนกระทั่งจบชั้นมัธยมต้น ก่อนจะย้ายไปเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนประจำอำเภอ ชลิตาเข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยการอาชีพ เช่นเดียวกับพลานิช ในขณะที่นิรมลและสุสิริเรียนโรงเรียนเดียวกันกับเธอ เพียงแค่อยู่คนละห้อง ถึงกระนั้นคำนิยามอย่าง ‘ลูกกะหรี่’ ก็กลายเป็นสิ่งที่ตามติดตัวเธอจวบจนเรียนจบมัธยมปลาย
อาจจะเพราะเรื่องนั้นเธอถึงไม่มีเพื่อนกับใครเขาสักคน เวลาอยู่ในห้องเรียนเพื่อนผู้หญิงคุยกับเธอเป็นปกติ หากจับกลุ่มทำงานก็ไม่เคยมีท่าทีรังเกียจรังงอน แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปร่วมกลุ่มกับใครๆ ได้ ไม่มีใครชวนทานข้าว เธอจึงนั่งคนเดียว ซึ่งมันก็ไม่ได้มีผลต่อรสชาติ ก็เห็นว่ายังอร่อยอยู่เหมือนเดิม ในขณะที่พวกผู้ชายล้วนมีท่าทีกะลิ้มกะเหลี่ยทุกครั้งที่เข้าหา
หนักที่สุดคงเป็นการถามเธอว่า ‘ขายไหม’ ระยำจริงๆ
เธอจำได้ เธอตอบไปว่า ‘แกไม่มีปัญญาซื้อเราหรอก เราแพงมาก’
‘เธอเด็ด?’
‘อาฮะ พ่อเธอยังติดใจเราโคตรๆ เลย แม่เธอถึงได้เหงามากไง’
มันโกรธเป็นฟืนเป็นไฟหาว่าเล่นพ่อเล่นแม่ อ้าว แล้วเล่นไม่ได้หรือ น่าสนุกออก
หลังจากนั้นเธอมักจะใช้ไม้นี้กับผู้ชายที่เข้าหาด้วยเรื่องใต้สะดือ จนทุกคนพากันเกลียดและเลิกวุ่นวายไปในที่สุด มีชอบเหน็บแนมบ้าง แต่ก็นับว่าเป็นสีสันชีวิตที่ไม่ใช่ว่าใครจะมีได้ เธอมันโคตรพิเศษ
ถึงแม้ว่าภายในรั้วโรงเรียนจะไม่สวยงาม แต่มลุลีกลับรับมือได้ทุกอย่าง
มันด่า เธอก็สวน
มันตบ เธอก็ตี
มีมือ มีปาก เหมือนกันทุกคน จะยอมให้ด่าอยู่ได้อย่างไร มันจริงที่แม่เธอเคยเป็นโสเภณี แต่กับเหตุผลแค่นี้ที่เอามาสาดคำพูดแย่ๆ ใส่กันมันก็ไม่ถูกต้อง และอาชีพของแม่เธอก็มิใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
ที่จริงแล้วโสเภณีสร้างคุณประโยชน์กับโลกใบนี้ไว้มาก ทุกคนควรขอบคุณผู้เสียสละกลุ่มนี้ หาใช่ไปเหยียดหยาม
หลังแม่เลิกประกอบอาชีพนั้นแล้วเดินทางกลับมายังอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ท่านก็ยึดอาชีพหลักในการขายขนมกุยช่าย ซึ่งเป็นอาชีพของยายโดยที่แม่เข้ามารับช่วงต่อ แม่ทำทุกอย่างเพื่อครอบครัว นำเงินเก็บที่ได้จากการไปทำงานมาสร้างบ้าน ซื้อรถ และเลี้ยงดูลูกสาวกับบุพการี
แม่ทำทุกอย่างได้ดี แม่เป็นผู้หญิงที่ควรค่าแก่การยกย่อง
แม่ส่งเธอเรียนจนจบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ดีเหลือเกินที่นางพวกนั้นไม่ได้เรียนที่เดียวกัน เธอจึงหาเพื่อนในรั้วมหาวิทยาลัยได้บ้าง ไม่มากนัก เพียงสองคนเท่านั้น ทว่าคุณภาพคับแก้ว
หลังเรียนจบมีโอกาสได้เข้าทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง แต่แล้วก็มีเหตุให้ต้องออกเพราะดันมีปากเสียงกับเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ เธอผิดเองที่ไม่โตพอจะควบคุมอารมณ์ พอเล่าให้ที่บ้านฟังมารดาก็เรียกตัวกลับปากพลีทันที
วาดดาวไม่ยอมให้หัวแก้วหัวแหวนของตนไปตกระกำลำบากที่ไหนเด็ดขาด ท่านว่าโลกนี้โหดร้ายกับเด็กสาวอย่างลูกเธอนัก มีคนใจดำอยู่ทุกหนแห่ง และเธอทำใจยอมรับให้ลูกไปเจอโลกสารเลวแบบนั้นไม่ได้ เพียงแค่คิดว่าจะมีใครมาดุด่ามลุลี หัวอกคนเป็นแม่ก็แทบขาด
เธอเลี้ยงมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะดุด่าให้ลูกต้องเสียใจ ทะนุถนอมมลุลีสุดชีวิต ใครก็ไม่มีสิทธิ์ทำให้ลูกสาวเธอเสียใจทั้งนั้น แต่จนแล้วจนรอดมลุลีก็ยังอยากออกไปผจญโลกกว้าง
ลูกสาวคนนี้ไม่ได้รักการทำกุยช่าย แต่ทนทำมาได้แรมปีเพราะผู้เป็นแม่ขอให้อาศัยอยู่ที่บ้าน หากเป็นบ้าน หัวใจของมลุลีจะได้รับการปกป้องอย่างดี ทว่ายามที่ลูกขอออกไปใช้ชีวิตข้างนอกอีกครั้ง และสัญญาว่าจะเป็นคนที่มีวุฒิภาวะมากกว่าเดิม วาดดาวที่มีความอดทนต่ำเมื่อเป็นเรื่องของลูกสาวจึงตกปากรับคำอย่างช่วยไม่ได้
“แต่ไม่ไปไกลเกินไปได้ไหมลูก”
หญิงสาววัยยี่สิบห้าที่สวยสะพรั่งชะงักมือที่เอื้อมไปหยิบเสื้อผ้า เธออยู่ในระหว่างการจัดกระเป๋าเพื่อออกเดินทางไปท่องโลก ที่อาจไม่กว้างนัก แต่ก็คงกว้างกว่าการอยู่หน้าเตาและทอดกุยช่ายไปวันๆ อาจจะเพราะเธอโตขึ้น มีความอยากรู้อยากลอง อยากสัมผัสในสิ่งต่างๆ การอยู่แต่บ้านจึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ
ถึงกระนั้นเธอก็ไม่เคยเบื่อคนในบ้าน ไม่เคยเบื่อความรักความห่วงใยที่ตา ยายและแม่มอบให้ เพียงแค่อยากออกไปสู้รบปรบมือกับโลกใบใหญ่บ้างก็เท่านั้น เธอมั่นใจว่าความเก่งกาจของตัวเองที่สั่งสมมาเนิ่นนานนั้นจะช่วยให้ตนเอาตัวรอดได้
มลุลีโค้งริมฝีปากเป็นรอยยิ้ม “ได้ ได้เลย มิ้มอยู่ที่นครนายกนี่แหละ”
คนฟังเผลอยกมือขึ้นทาบอก ไม่ว่าจะเมื่อสิบปีก่อนหรือตอนนี้ มลุลีในสายตาเธอก็ยังเป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ ที่เธอต้องกางปีกปกป้องอยู่วันยังค่ำ ทั้งๆ ที่ลูกสาวโตมากแล้วแท้ๆ แต่หัวอกคนเป็นแม่ใครจะไปรับไหว
“แม่นึกว่าลูกอยากไปไกลๆ เสียอีก อย่างกรุงเทพฯ”
“กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ไกลนะแม่ แค่นี้เอง”
หญิงวัยกลางคนมีสีหน้าสลด “ไกล ถ้าใกล้ก็ที่บ้านเรา”
“มิ้มสัญญาว่าจะกลับบ้านบ่อยๆ”
วาดดาวพรูลมหายใจออกอย่างช่วยไม่ได้ ในเมื่อเป็นความต้องการของลูก ก็มีแต่ต้องสนับสนุน “แล้วลูกตั้งใจจะทำอะไรล่ะ โรงแรม รีสอร์ท แบบนั้นไหม แถวๆ เขื่อนน่าจะมีนะ ยังไงก็อยู่ในจังหวัด เวลาแม่คิดถึงได้ไปหาได้”
“เขื่อน? ขุนด่านฯ น่ะเหรอ”
“ใช่ แถวนั้นที่พักเยอะ”
มลุลีพับเสื้อผ้าไปด้วย คุยไปด้วย “เป็นคนนครนายกแท้ๆ แต่มิ้มไม่เคยไปเขื่อนเลย”
“แม่พาไป ไปไหม พรุ่งนี้เลย เดี๋ยวแม่ปิดร้านให้”
“จริงนะ งั้นไป” สองแม่ลูกระบายยิ้มให้กัน เป็นยิ้มที่ส่งไปถึงดวงตา อาจจะเพราะมันถูกกลั่นออกมาจากหัวใจ “แต่แค่ไปเที่ยวนะแม่ มิ้มไม่อยากทำงานโรงแรงหรือรีสอร์ทอะไรเทือกๆ นั้น ไว้หางานในตัวเมืองทำดีกว่า”
“ก็ถ้าลูกต้องการแบบนั้น”
เพราะหากเป็นความปรารถนาของมลุลีแล้ว วาดดาวย่อมสนองให้ได้อย่างไม่ลังเล
ในเช้าวันถัดมา เธอไม่ได้เปิดร้านขนมกุยช่ายอย่างทุกวัน แต่พาพ่อ แม่ และลูกสาวไปพักผ่อนหย่อนใจยังเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด
ที่ผ่านมามลุลีไม่เคยออกปากขอให้แม่พาไปเที่ยว เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าแม่ต้องเหนื่อยเพียงใดที่จะหาเงินมาจุนเจือครอบครัวในแต่ละวัน แม่เอาแต่ทำงานและพร้อมจะประเคนทุกสิ่งทุกอย่างให้เธอ ในยามที่เห็นแม่เหนื่อย เธอก็ทำใจใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายไม่ได้
แม่คนนี้เหนื่อยมามาก ความฝันของเธอจึงหวังเพียงให้ครอบครัวได้อยู่อย่างสุขสบาย
ช่วงที่ทำงานในกรุงเทพฯ มลุลีพยายามอยู่อย่างประหยัด แบ่งสันปันส่วนเพื่อใช้จ่าย และเก็บไว้อีกส่วนเพื่อมอบให้ที่บ้าน แต่ก่อนมีเพียงห้องนอนของเธอที่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ตอนนี้มีครบทุกห้อง ไม่ใช่แค่แม่ที่อยากให้เธอสบาย เธอเองก็อยากให้ตา ยาย และแม่อยู่อย่างสุขสบายเช่นกัน
ในตอนนี้ครอบครัววรสุวรรณไม่ได้ยากจนข้นแค้นเหมือนอย่างเก่า ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตที่รัดเข็มขัดถึงเพียงนั้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไม่มากพอให้ฟุ่มเฟือย
วันทั้งวันคนทั้งสี่ง่วนอยู่แต่กับการกิน เที่ยว พักผ่อน มลุลีถ่ายรูปไว้ไม่น้อย ไม่ต่างกับผู้เป็นแม่ที่อีกเดี๋ยวลูกสาวก็จะจากอ้อมอกไปทำงาน อย่างน้อยๆ มีรูปถ่ายไว้ดูให้หายคิดถึงก็ยังดี
เมื่อกลับมาถึงบ้านในช่วงหัวค่ำ สองแม่ลูกก็นั่งอยู่ที่โซฟาหน้าทีวี เปิดดูรูปถ่ายแล้วหัวเราะบ้าง ยิ้มบ้าง ให้กับสิ่งที่ปรากฏแก่สายตา
“ลูกนี่ยิ่งโตยิ่งสวย”
คนตัวเล็กแกล้งเย้า “เหมือนแม่”
“สวยกว่าแม่อีก” มลุลียิ้มรับคำชมแต่โดยดี “ความสวยของลูก อย่าให้ใครมาพรากมันไปนะ”
“หือ”
“ไม่ว่าใครก็ตาม อย่ายอมให้มันมาทำให้ลูกเสียใจ มาทำให้ต้องร้องไห้ เพราะลูกแม่ไม่เคยเหมาะกับน้ำตา”
ริมฝีปากสีระเรื่อบิดโค้งขึ้น
“ลูกแม่เหมาะกับรอยยิ้มที่สุด หนูต้องยิ้มเยอะๆ นะลูก”