บท
ตั้งค่า

ตอนที่ 4

กมลชนกไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เธอวูบ หากเมื่อตื่นขึ้นมาอีกที ก็พบว่าตัวเองอยู่ที่โรงพยาบาล...ใช่ ไม่ผิดแน่ กลิ่นยาที่ตลบอบอวลอยู่ตอนนี้ไม่มีที่อื่นอีกแล้ว เธอกำลังนอนอยู่บนเตียงคนไข้ แถมยังรู้สึกตึงๆ ตรงหลังฝ่ามือ ซึ่งเมื่อใช้สายตาอันพร่ามัวเหลือบไปมองก็พบเข็มเล่มใหญ่ซึ่งเชื่อมต่อกับสายน้ำเกลือเจาะอยู่ที่ฝ่ามือเธอ สาวเจ้าผ่อนลมหายใจน้อยๆ ด้วยความรู้สึกล้าๆ แล้วกลอกสายตาไปรอบผ้าม่านที่ถูกเลื่อนมาปิดล้อมรอบเตียง จนกระทั่งมาหยุดที่ดวงหน้าคมสันของบุรุษผู้ที่เธอคุ้นเคยเป็นอย่างดี คุ้นเคยแม้จะเห็นได้ไม่ชัดเจนเพราะเวลานี้ แว่นสายตาของเธอถูกถอดออกไปไว้ที่ไหนสักที่ แต่ก็พอจะรับรู้ได้ว่า เวลานี้เขากำลังส่งยิ้มให้พร้อมกระแสเสียงทุ้มอย่างหยอกล้อ

“ไง...ฟื้นแล้วหรือหนูนา” ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะที่เขาเปลี่ยนสรรพนามจากชื่อจริงของเธอมาเป็นชื่อเล่น หรือบางทีเขาอาจจะเรียกเธอตามที่อาจารย์กุสุมากับพวกพี่ๆ เจ้าหน้าที่ของภาควิชาเรียกกันกระมัง “นอนพักไปหลายชั่วโมงเลยนะ”

“อาจารย์กรกันต์” พอเริ่มตั้งสติได้ คนป่วยก็แทบจะลุกพรวดจากเตียงนอน ดีที่อาจารย์หนุ่มห้ามไว้ทัน ทั้งยังออกแรงกดร่างเล็กที่เวลานี้อยู่ในชุดคนไข้ของโรงพยาบาลให้นอนลงตามเดิม

“นี่อย่าลุกพรวดขึ้นมาอย่างนี้สิ เดี๋ยวก็เป็นลมเป็นแล้งไปอีก” เขาตำหนิน้อยๆ อย่างไม่จริงจังนัก พลางหันไปหยิบแว่นตาที่วางอยู่บริเวณหัวเตียงมาให้เธอสวม แล้วเอื้อมมือไปรูดผ้าม่านที่ปิดล้อมเตียงไว้ ด้วยห้องที่หญิงสาวนอนพักอยู่นั้นคือห้องรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงทำให้สภาพแวดล้อมค่อนข้างวุ่นวาย ชายหนุ่มจึงตัดสินใจรูดม่านปิดมันเสียเลยเพื่อป้องกันเสียงความชุลมุนจะมารบกวนลูกศิษย์ของเขา “คุณพยาบาลครับ คนไข้ฟื้นแล้ว”

และไม่กี่นาที รอบเตียงกมลชนกก็ถูกล้อมด้วยพยาบาลสองคนกับคุณหมออาวุโสอีกหนึ่ง หญิงสาวได้รับการสอบถามถึงอาการตอนนี้เพียงเล็กน้อย ก่อนที่คุณหมอจะบอกให้เธอนอนพักอีกสักครู่ รอจนกว่าน้ำเกลือจะหมดขวดถึงจะกลับบ้านได้

“ขอบคุณอาจารย์มากเลยนะคะที่ช่วยพานามาส่งโรงพยาบาล” กมลชนกเอ่ยขึ้นขณะพากันเดินออกจากโรงพยาบาลในช่วงหัวค่ำ หลังจากที่คุณหมออนุญาตให้กลับบ้านได้พร้อมกับจ่ายยาบำรุงมาให้เธอถุงใหญ่ “ถ้าตอนนั้นอาจารย์ไม่มาเจอ นาคงนอนแผ่กลางถนนไปแล้ว”

ก็เท่าที่ได้สอบถามคร่าวๆ ก็พบว่า ตอนที่เธอวูบหมดสติไปนั้น อาจารย์กรกันต์ที่กำลังจะกลับบ้านขับรถผ่านมาพอดี คราแรกเขาก็คิดจะจอดรถทักทายเธอ แต่จู่ๆ ก็กลายเป็นว่าเธอดันเป็นลมสลบกลางถนนเสียอย่างนั้น เขาเลยนำตัวเธอส่งโรงพยาบาลในเครือมหาวิทยาลัย และก็อยู่โยงเฝ้าเธอจนกระทั่งฟื้น

“คราวหน้าคราวหลัง ต่อให้เครียดยังไง ก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอแล้วก็ทานข้าวด้วย ไม่ใช่อดข้าวแบบนี้” เขาเตือนด้วยความเป็นห่วง ขณะเปิดประตูรถด้านตรงข้ามคนขับให้เธอขึ้นไปนั่ง ก่อนจะอ้อมมานั่งประจำที่ของตัวเอง...เป็นอีกครั้งที่กมลชนกได้มีโอกาสนั่งรถของอาจารย์สุดฮ็อตของคณะ จำได้ว่าคราวก่อน เธอไปเล่าให้พุดน้ำบุษย์ฟัง แม่พุดของเธอก็วี้ดว้ายพร้อมกับทำท่าฮึดฮัดขัดใจเมื่อเธอเล่าว่า อาจารย์ส่งเธอตรงสถานีรถไฟใต้ดิน

“เป็นฉันนะ จะขอให้อาจารย์ไปส่งที่บ้านเลยแกเอ๊ย”

“ก็นาทานไม่ลงนี่คะอาจารย์” สาวเจ้าอ้อมแอ้มตอบ พลางทำหน้ามุ่ยเมื่อเจอสายตากึ่งๆ ดุของชายหนุ่มตวัดมามอง “นาเรียนมาสี่ปีแล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะสอบปิดเล่ม ถ้านายังอุดช่องโหว่ของธีสิสตัวเองไม่ได้ นาก็จะไม่จบ เท่ากับว่าสี่ปีที่ผ่านมาจะสูญเปล่าเลยนะคะ”

สี่ปี...ช่างเป็นเวลาที่ยาวนานเหลือเกินสำหรับคนที่เรียนต่อปริญญาโท แต่กมลชนกก็ไม่เคยคิดจะย่อท้อแม้แต่น้อย เพราะเธอยังคงมุ่งมั่นในเส้นทางที่ตัวเองเลือก จนกระทั่ง ถนนที่กำลังเดินดันมาเจอเข้ากับทางตัน จนเวลานี้ เธอยังไม่รู้เลยว่าจะสามารถค้นหาทางออกเจอหรือเปล่า

กรกันต์ได้เพียงแค่รับฟังความทุกข์ที่หญิงสาวต้องแบกเอาไว้จนกระทั่งสะสมเป็นความเครียด ชายหนุ่มมิได้ปริปากเอ่ยคำใดออกมา หากยังคงขับรถไปเรื่อยๆ คราแรก ก็กะจะไปส่งเธอที่สถานีรถไฟใต้ดิน เพื่อให้สาวเจ้ากลับไปพักผ่อน แต่สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนใจ ขับรถเบี่ยงออกนอกเส้นทาง

“นี่ไม่ใช่ทางไปรถไฟใต้ดินนี่คะอาจารย์”

“ไปหาที่นั่งเล่นเดินเล่นกันหน่อยดีกว่า ตอนค่ำๆ แบบนี้ บรรยากาศดีนะ เหมาะกับการพักผ่อน”

สถานที่นั่งเล่นที่เขาว่า ก็คือสวนสาธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชายหนุ่มเดินนำหญิงสาวไปนั่งที่เก้าอี้ตัวหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ทอดสายตามองไปยังแสงไฟวิบวับจากเรือท่องราตรี บางครั้งเมื่อเรือลำใหญ่แล่นผ่าน จะมีเสียงเพลงแจ๊สแว่วมาผสมผสานกับเสียงลมหวีดหวิวพัดเอาไอเย็นมากระทบพอให้ผ่อนคลาย พร้อมกับยื่นกล่องอาหารที่เขาซื้อมาไว้ก่อนกลับจากโรงพยาบาลให้หญิงสาวที่รับไปอย่างงงๆ และสั่ง

“ทานข้าวซะก่อน จะได้ไม่เป็นลมเป็นแล้งไปอีก”

“ไปซื้อมาตอนไหนคะ” ถามอย่างไม่ได้ต้องการคำตอบอะไรมากมาย แต่ก็ยอมเปิดกล่องข้าวที่แนบช้อนคันเล็กๆ มาให้ด้วย และทันทีที่เห็นข้าวผัดสีเหลืองนวลกับกุ้งตัวโตๆ กมลชนกก็สัมผัสได้ถึงความโหยหวนของกระเพาะ จนต้องรีบตักข้าวเข้าปากรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย ที่ก็ไม่รู้ว่าเพราะหิวหรือมันอร่อยจริงๆ กันแน่ “อาจารย์ ไม่รับโทรศัพท์หน่อยหรือคะ”

สาวเจ้าทักขึ้นเมื่อเห็นว่า โทรศัพท์มือถือของชายหนุ่มดังถี่กระชั้นติดกันมาหลายรอบแล้ว และทุกรอบ เขาก็จะกดตัดสายทิ้ง แต่ไม่นาน เสียงเรียกเข้าก็จะดังขึ้นมาใหม่ จะว่าไป ไม่ใช่แค่การโทรเท่านั้นนะ แต่รวมไปถึงข้อความที่ก็ดังรัวเลยทีเดียว ราวกับว่า ปลายทางกำลังระบายอารมณ์ที่อัดอั้นอะไรสักอย่าง หากกมลชนกก็ไม่เห็นว่าอาจารย์กรกันต์จะสนใจ เขายังคงวางท่าเฉยและเอนหลังพิงกับเก้าอี้สาธารณะทอดสายตามองออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยายามราตรี

“ไว้ค่อยรับก็ได้”

“เดี๋ยวปลายสายเขาก็งอนกันพอดีหรอกค่ะ” ไม่บอกก็รู้ว่าคนที่โทรเข้ามา มิพักจะต้องเป็นสาวๆ ในสังกัดของอาจารย์เป็นแน่...ถึงจะไม่เห็นหน้าจอโทรศัพท์แบบเต็มๆ แต่ก็ยังพอเห็นชื่อคนโทรเข้าอยู่ลางๆ ว่าเป็นชื่อผู้หญิง ที่ดูแล้ว ก็แทบจะไม่ซ้ำกันเลย

“ช่างเถอะ มาพูดเรื่องของเราดีกว่า ธีสิสมีปัญหาอะไรหรือถึงเครียดขนาดเป็นลมเป็นแล้งอย่างนี้” เขาตัดบท แล้วเปลี่ยนเรื่องทันที ร่างสูงขยับตัวน้อยๆ เปลี่ยนอิริยาบถการนั่งเพื่อจะหันมามองหน้าคนตัวเล็กตรงๆ ขณะที่อีกฝ่ายทำหน้ายู่ แล้วก็เริ่มเครียดขึ้นมาอีกครั้ง

อันที่จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเธอ ก็ไม่อยากจะบอกให้ใครรู้ ด้วยจะพลอยทำให้คนอื่นเป็นห่วงเปล่าๆ แต่ครั้นจะเก็บเอาไว้คนเดียวก็คงไม่ไหว จึงตัดสินใจเล่าให้เขาฟัง อย่างน้อยๆ กมลชนกก็เชื่อว่า อาจารย์กรกันต์จะเป็นผู้ฟังที่ดี ต่อให้เขาช่วยอะไรเธอไม่ได้ แต่เขาก็น่าจะมีคำพูดดีๆ มาให้กำลังใจเธอบ้างล่ะน่า

กมลชนกไม่ได้จับเวลาเลยว่า เธอพร่ำบ่นถึงความเครียดเรื่องวิทยานิพนธ์กับอาจารย์กรกันต์ไปนานแค่ไหน เพราะสุดท้าย จะด้วยบ่นนานจนคอแห้งหรือได้ระบายออกมาจนพอใจแล้วก็ตาม หญิงสาวก็นั่งคอตกราวกับคนหมดอาลัย ปากก็พึมพำเสียงอ่อน

“เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ”

“ผมเข้าใจคุณนะหนูนา” ไอ้เรื่องงานวิจัยต้องมาพบเจอกับอุปสรรคอะไรแบบนี้ สำหรับกรกันต์หรือแม้แต่อาจารย์ท่านอื่นๆ ก็คงไม่มีคำใดจะพูดมากไปกว่า ‘ชินเสียแล้ว’ ตราบใดที่พวกเขายังเลือกที่จะอยู่กับอาชีพอาจารย์และนักวิชาการแบบนี้ อย่างไรเสีย ก็หนีไม่พ้น และเขาก็เชื่อว่า อีกหน่อยกมลชนกเองก็จะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งเหมือนเขา เพียงแค่ตอนนี้ เธอยังอยู่ในสถานะ ‘มือใหม่’ ที่ต้องค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันไปทีละน้อย “แต่ผมจะบอกให้นะว่า ปัญหาของคุณมันเล็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับที่คนอีกร้อยแปดพันเก้าต้องเจอ บางคนถึงกับไปต่อไม่ได้เลยนะ”

“จริงหรือคะ แต่...งานของนา ก็ร่ำๆ ว่าจะไปต่อไม่ได้...”

“ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง พ่อของเขาเป็นนักวรรณคดีเหมือนกัน แต่ท่านเสียชีวิตแล้ว คุณน่าจะเคยได้ยินชื่อนะ...” กรกันต์บอกชื่อพ่อเพื่อนที่ถือว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการวรรณคดีไทยอย่างมากคนหนึ่งให้หญิงสาวรู้ และทันทีที่ได้ยินชื่อ สาวเจ้าก็พยักหน้าหงึกๆ ทันที “เพื่อนผมมันยังเก็บงานเขียนเก่าๆ ของพ่อมันไว้อยู่ เห็นว่ามีโครงการจะทำเป็นห้องสมุดด้วย เดี๋ยวผมจะลองติดต่อมัน ขอให้คุณเข้าไปค้นข้อมูล น่าจะได้”

“จริงหรือคะ...ได้จริงๆ หรือคะ” อารามตื่นเต้นดีใจทำให้ตาสีนิลใต้กรอบแว่นใหญ่นั้นสว่างจ้าแสงขึ้น พร้อมกับมือเรียวเล็กที่เอื้อมมือจับแขนแกร่งมั่นและเขย่าไปมาอย่างลืมตัวราวกับเด็กน้อยได้ของถูกใจ ครั้นพอรู้ตัวก็รีบชักมือกลับด้วยความเขินอาย “ขอโทษค่ะ ดีใจไปหน่อย”

“แว่นตาจะร่วงแล้ว” ไม่พูดเปล่า มือหนายังยื่นไปจัดการจับแว่นตาของหญิงสาวให้เข้าที่เข้าทางจนสาวเจ้าสะดุ้งวาบพร้อมๆ กับที่กระแสอุ่นซ่านแล่นปราดไปกองรวมกันอยู่ที่พวงแก้มให้รู้สึกเห่อร้อน มองตาสีสวยของเขาที่กำลังยิ้มหัวอย่างเอ็นดู “ถ้าหายเครียดแล้ว ก็กลับกันเถอะ ดึกแล้ว...แม่ผมโทรตามแล้วเนี่ย” ว่าพลางมองดูโทรศัพท์ตัวเองที่เห็นแวบๆ ว่า มีสายของมารดาโทรเข้ามาอยู่สองสามสาย หากกมลชนกกลับยิ้มกระหยิ่มนึกอยากเย้าเขาเล่นขึ้นมาบ้าง

“แม่คุณหรือคะ”

“ผมไม่มีแม่คุณมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีแล้วล่ะครับ ที่มีอยู่ก็ ‘คุณๆ’ เท่านั้นเอง” พูดจบก็ขยิบตาให้เธอทีหนึ่งอย่างคนขี้เล่นจนได้เสียงหัวเราะใสกิกตอบกลับมา

อาจารย์กรกันต์นี่ก็เหมาะกับการเป็นนักวิชาการด้านวรรณคดีจริงๆ ช่างสรรหาคำว่าเปรียบเปรยสาวๆ ในสังกัดได้เห็นภาพนักเชียว อ้อ...ไม่ใช่แค่เห็นภาพ แต่เห็นไปถึงสถานะของ ‘คุณๆ’ เหล่านั้นเสียด้วย

ดาวน์โหลดแอปทันทีเพื่อรับรางวัล
สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อดาวน์โหลดแอปHinovel