บท
ตั้งค่า

ตอนที่ 3

การเรียนการสอนของนิสิต ป.โท ที่เรียกกันว่า ‘คอร์สเวิร์ค’ ได้สิ้นสุดลงพร้อมกับเริ่มต้นกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งแต่ละคนจะต้องเลือกหัวข้อที่ตัวเองชอบและมีความถนัด หยิบยกขึ้นมาทำวิจัย โดยจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยคุมดูแลให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด และแน่นอนว่า กมลชนกคือความหวังของบรรดาอาจารย์ทุกคนในภาควิชา เพราะหญิงสาวจัดว่าเป็นเด็กที่เรียนดีมาก ไม่ว่าใครก็ต่างมองกันว่า เธอคืออนาคตของวงการวรรณคดีรุ่นต่อไป แถมหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เธอเลือกก็มีความน่าสนใจ บวกกับได้อาจารย์มือหนึ่งของภาควิชามาควบคุม จึงทำให้ใครต่อใคร ต่างมองว่า สาวเจ้าจะต้องไปได้สวยในกระบวนการวิจัยนี้ แต่เอาเข้าจริง มีแต่เธอเท่านั้นที่รู้ว่า งานวิจัยของเธอกำลังจะถึงทางตัน

“ครูว่า หนูควรจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออุดช่องโหว่ในงานของหนูสักเล็กน้อย ครูมาร์คไว้ให้แล้ว ยังไงก็สู้ๆ นะหนูนา โค้งสุดท้ายแล้ว” เสียงอันแสนปรานีของรองศาสตราจารย์กุสุมา อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอยังดังก้องอยู่ในโสต หลังจากได้เข้าพบเพื่อรับเอกสารคืนมาแก้ไข

กมลชนกรู้ดีว่า ทุกครั้งที่ได้รับงานตีคืนกลับมา เธอจะต้องได้รับคำติติงเพื่อนำมาปรับปรุงงานวิจัยของตัวเอง แต่ไม่มีครั้งไหนที่จะทำให้เธอเครียดจนเหมือนจะเป็นตะคริวในสมองเท่าครั้งนี้เลย เพราะเมื่อเธอกลับมาคอนโดและพยายามเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม แต่กลับไม่มีข้อมูลใดเธอค้นหา

“เหตุผลที่หนูกล่าวมามันยังดูเบาไป ครูว่าหนูลองหาข้อมูลดูว่า คำๆ นี้ มันมีการใช้ในความหมายอื่นหรือไม่ในทางวรรณคดี ถ้าหนูสามารถอุดช่องโหว่ตรงนี้ได้ งานเขียนของหนูจะเฟอร์เฟกต์และจะเป็นคุณูปการอย่างมากในวงการวรรณคดี”

ใครจะคิดเล่าว่า แค่คำเพียงคำเดียว จะมีอิทธิพลต่อวิทยานิพนธ์ทั้งเล่มถึงเพียงนี้ แต่ก็อย่างว่า ในเมื่อเธอเลือกที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับวรรณคดีโบราณ มันก็ต้องพบอุปสรรคในแง่ของภาษาแบบนี้ นับตั้งแต่เรียนวรรณคดีสมัย ป.ตรี จนกระทั่ง ป.โท กมลชนกคิดว่า ภาษาไทยคือภาษาที่มีวิวัฒนาการมากที่สุดภาษาหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อถูกนำมาใช้กับงานวรรณกรรม แต่ยามนั้น เธอก็รู้เท่าที่เธอได้เรียน แต่ครั้งนี้ เธอต้องรู้เพื่อที่จะเพิ่มผลงานใหม่ในกับวงวิชาการ

ห้องสมุดของคณะอักษรฯ กลายเป็นที่สิงสถิตของเธอในทุกๆ วัน บางวันก็ถึงกับนั่งรถไปยังหอสมุดแห่งชาติด้วยหวังว่ามันจะมีข้อมูลอะไรให้เธอพอจับทิศทางได้ เธอวิ่งวุ่นอยู่อย่างนี้จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน และวันนี้ก็เป็นอีกวันที่กมลชนกต้องหอบร่างที่เริ่มจะซูบผอมของตัวเองไปยังหอสมุดแห่งชาติ แล้วก็กลับมามหาวิทยาลัยพร้อมเอกสารที่ถ่ายมาสองสามปึกในช่วงบ่ายแก่ๆ

หิวก็หิว ร้อนก็ร้อน แต่ก็อยากจะรวบรวมข้อมูลที่ได้มาอ่านให้หมดเพื่อจะดูว่า มีส่วนไหนที่พอจะมาเป็นหลักฐานเพิ่มความน่าเชื่อถือให้วิจัยของตัวเองได้บ้าง ระหว่างทางเดินไปยังห้องสมุดคณะ เสียงโทรศัพท์มือถือซึ่งปิดเสียงเรียกเข้าไว้ในกระเป๋าสะพายสีเข้มก็สั่นสะเทือนขึ้น คราแรก หญิงสาวกะจะไม่รับเพราะรู้สึกล้าเกินกว่าจะทำอะไร แต่เพราะเจ้าเครื่องจิ๋วยังสั่นไม่หยุด และเมื่อหยิบมาดูจึงเห็นว่าคนที่โทรเข้ามาคือมารดาของตน กมลชนกจึงต้องกดรับ ด้วยเกือบอาทิตย์มานี้ เธอแทบไม่ได้ติดต่อกับครอบครัวเลย แถมวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไม่ได้กลับบ้านเหมือนทุกครั้ง

“ค่ะแม่”

“เป็นยังไงบ้างยัยหนูลูกแม่” กระแสเสียงอ่อนหวานเอ่ยถามด้วยความเป็นห่วงส่งกระแสอุ่นวาบผ่านสู่จิตใจของอ่อนล้าของลูกสาวเป็นอย่างดี กมลชนกยิ้มบางจนแทบจะไม่เห็น และตอบกลับด้วยเสียงเนือยๆ

“เหนื่อยค่ะแม่ แต่ก็ยังถือว่าโอเค”

“พ่อเขาเป็นห่วง เห็นว่าเราไม่กลับบ้านเมื่ออาทิตย์ก่อน นี่อาทิตย์หน้าพ่อเขาจะบินไปทำงานที่ญี่ปุ่น แม่คิดว่า ถ้าหนูเครียด เราไปเที่ยวกันดีมั้ย พักผ่อนเสียบ้าง สมองโล่งๆ เผื่อจะคิดอะไรออก”

ทำไมคนเป็นแม่จะไม่รู้เล่าว่าลูกสาวกำลังตกอยู่ในสภาวะความเครียดรุมเร้า ในเมื่อทั้งพ่อและแม่ก็ผ่านจุดนี้กันมาหมดแล้ว กระนั้น ก็ยังอดเป็นห่วงลูกสาวคนเล็กไม่ได้อยู่ดี นิสัยเสียๆ ของยัยหนูนานั้น ทั้งพ่อแม่ และพี่ชายต่างรู้กันดี เวลาเครียดจากที่ไม่ค่อยทานอะไรอยู่แล้ว จะยิ่งทานอะไรไม่ลง ก็กลัวว่าจะเป็นลมเป็นแล้งไปเสียก่อน

“เดี๋ยวนาบอกอีกทีนะคะแม่ แต่ยังไงอาทิตย์นี้นาจะกลับบ้านนะคะ บอกพ่อไม่ต้องเป็นห่วง นาเป็นลูกพ่อกับแม่นะ ยังไงก็ต้องได้ความฉลาดของพ่อกับแม่มาบ้างล่ะน่า” เพราะไม่อยากให้บุพการีเป็นห่วง กมลชนกจึงทำเสียงระรื่นทั้งที่ความจริงเธอรู้สึกเหมือนพื้นโคลงเคลงชอบกล หญิงสาวคิดว่าเธอจะต้องกลับไปยังห้องสมุดให้เร็วที่สุด หมายใจว่าจะฟุบหน้าพักสายตาสักงีบเผื่ออาการจะดีขึ้น จึงรีบวางสายตาผู้เป็นแม่และสาวเท้ายาวๆ มุ่งไปยังห้องสมุด แต่ยังไม่ทันที่จะไปถึงไหน ภาพที่สะท้อนผ่านเลนส์แว่นตาก็หมุนเคว้ง พื้นที่กำลังเหยียบยืนพลิกคว่ำ แล้วสติเธอก็ดับวูบลง

ดาวน์โหลดแอปทันทีเพื่อรับรางวัล
สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อดาวน์โหลดแอปHinovel