๒ ตบมือข้างเดียวมาตลอด (๑)
๒
ตบมือข้างเดียวมาตลอด
กลับถึงบ้านกนกวดีก็ต้องช่วยมารดาทำอาหารเย็น แต่ก็ต้องปลีกตัวออกมาโดยหาเรื่องอู้ว่ายายแม้นเรียกมาบีบขา ความจริงหล่อนกำลังดูละครเย็นพร้อมพูดคุยเป็นเพื่อนยายซะมากกว่า คว้าผลไม้ที่ปอกเรียบร้อยมากิน
ยายแม้นตามใจหลานสาวคนสวยทุกอย่าง คอยปรามลูกสาวเวลาดุกนกวดี เธอจึงรักยายเป็นอย่างมาก มีเรื่องอะไรก็จะเล่าให้ท่านฟังตลอดไม่ได้ปิดบัง กระทั่งเรื่องความรู้สึกที่มีต่อนายอำเภอ ยายก็สนับสนุนเต็มที่
ทั้งบ้านคงมีคนเดียวที่ขัดขวางคือแม่วรรณ เพราะรู้ดีว่าภูมิรพีมีหญิงสาวให้เลือกมากมาย นางไม่อยากให้ลูกเป็นตัวเลือกของใคร
“กิ่ง กิ่ง! นังกิ่ง!” จากที่กำลังดูละครอย่างสนุกสนาน กลับได้ยินเสียงเรียกชื่อของตนดังมาจากครัว ไม่บอกก็รู้ว่าเป็นใคร จำต้องพรูลมหายใจเสียงหนัก ผละจากห้องนั่งเล่นแล้วเดินเข้าไปหามารดาที่ทำอาหารเย็นสำหรับคนทั้งครอบครัว
“บอกว่าให้เรียกกรุ้งกริ้งไงแม่ ฉันเปลี่ยนชื่อมาหลายปีแล้วนะแม่ยังเรียกกิ่งอยู่ได้ คนอื่นเขาเรียกกรุ้งกริ้งกันหมดแล้ว...แม่เรียกฉันทำไม มีอะไรหรือเปล่า” บ่นเป็นหมีกินผึ้งตามประสาแต่ก็ไม่ได้จริงจังเพราะรู้ว่าอย่างไรท่านก็ไม่ยอมเรียกหล่อนว่ากรุ้งกริ้งหรอก
บอกว่าคนอะไรชื่อเหมือนกระดิ่งคอหมา จำได้ว่าตอนนั้นน้อยใจมารดาไม่คุยกับแม่วรรณไปสามวันเต็ม
ชื่อของหล่อนออกจะไพเราะ เหมือนระฆังยามเช้าที่ปลุกทุกคนให้ตื่นจากหลับใหล เป็นเสียงก้องกระวานของความสุข ความหมายดีจะตายไป
“เอาต้มไก่ไปฝากน้าสร้อยหน่อย ข้าทำไว้เยอะกินแค่บ้านเราไม่หมดหรอก” เธอมองไปยังหม้อแสตนเลสพกพาที่มีหูจับซึ่งข้างในมีต้มไก่แสนอร่อนฝีมือแม่วรรณ
เพียงแค่ได้ยินชื่อของคนที่ต้องเอาอาหารไปให้ หล่อนก็ส่ายหน้าพลางโบกไม้มือเพื่อเป็นการปฏิเสธ น้าสร้อยหรือสร้อยบุษบา ก้องคำราม เป็นแม่ของไอ้เสือผู้ชายที่หล่อนแสนจะเกลียดขี้หน้าเข้ากระดูกดำ คู่อริตั้งแต่ชาติปางก่อน
ถึงลูกจะเกลียดกัน แต่แม่ของสองคนกลับเป็นเพื่อนสนิทกันมานาน จนพลอยทำให้พวกเขาต้องเจอหน้ากันอยู่เนืองๆ ยกเว้นช่วงที่เสือต้องไปเรียนในตัวจังหวัดจึงอยู่หอพักแถวนั้น เข้ามหาวิทยาลัยก็สอบติดในกรุงเทพฯ กลายเป็นห่างหายไม่เจอหน้า
เพิ่งกลับมาพบกันอีกไม่กี่เดือนก่อนที่ฝ่ายชายกลับมาเปิดร้านซ่อมรถที่บ้าน สร้างความสะใจให้แก่กนกวดีเป็นอย่างมาก
สุดท้ายก็ไปไม่รอด...สมน้ำหน้า
“ไม่เอาอ่ะ แม่ก็ให้ไอ้กรเอาไปสิ” รีบโบ้ยให้น้องชาย ปกติถ้าแม่จะใช้ก็มักไหว้วานลูกคนเล็กที่ไม่ค่อยพูดจายอมทำตามแต่โดยดี
ไม่เหมือนลูกคนกลาง กว่าจะยอมแต่ละทีต้องพูดปากเปียกปากแฉะจนเริ่มเหนื่อย
“แล้วมันอยู่ไหมล่ะ...หรือจะให้ข้าใช้ยายเอ็งเหรอ ขาก็ไม่ค่อยจะดีอยู่ด้วย เอ็งนั่นแหละเอาไป อย่ามาทำท่ามาก ทีเอาข้าวไปให้นายอำเภอเร็วเชียวนะ ข้าใช้แค่นี้ทำมาอิดออด มันทำไมนักหนา” เพิ่งคิดได้ว่ากรกตไปทำงานที่อื่น ไม่กลับมาบ้านหลายเดือนแต่ยังอุตส่าห์โทรมาถามไถ่ตลอด
แม่วรรณประชดลูกสาวโดยใช้ยายแม้นเป็นข้ออ้าง พร้อมทั้งค่อนขอดเรื่องที่กนกวดีมักนำอาหารในร้านไปฝากภูมิรพีเป็นประจำจนคร้านจะเอ่ยขัด
น้ำตาเช็ดหัวเข่าเมื่อไหร่ก็คงรู้เองนั่นแหละว่าความเจ็บปวดเป็นอย่างไร
“สำหรับนายอำเภอฉันทำด้วยความเต็มใจ แต่นี่...ฉันไม่อยากเจอไอ้เสือ ไม่ชอบหน้ามัน เห็นแล้วหมั่นไส้กลัวกลับมาบ้านจะกินข้าวไม่ลง” ยกมือกอดอกแล้วเชิดหน้าไปทางอื่น เธอยืนยันไม่ไปจนแม่วรรณถอนหายใจอย่างเหนื่อยหน่าย
ถ้าเป็นตอนที่เสือยังไม่กลับมาอยู่บ้าน เธอก็พร้อมและเต็มใจเอาอาหารไปให้น้าสร้อยอย่างแน่นอน เพราะท่านน่ารักกับเธอเสมอ
อ่อนหวาน อ่อนโยน ใจดียิ้มเก่ง แตกต่างจากแม่ของหล่อนลิบลับจนนึกสงสัยว่าคบกันเป็นเพื่อนได้อย่างไร เหตุใดนิสัยจึงต่างกันขนาดนี้
“กินไม่ลงก็ดีจะได้ไม่เปลือง อย่าพูดมาก ข้าสั่งให้เอาไปก็เอาไป” เหนื่อยจะพูดจึงใช้คำสั่งขั้นเด็ดขาด แต่ดูเหมือนร่างบางจะยังประวิงเวลาเอาไว้ไม่อยากไป ไม่ต้องการเจอหน้าลูกชายคนโตของบ้านนั่นที่ชอบค่อนแคะเธอเป็นประจำ
“แม่อ่ะ!” โวยวายทันที แต่ก็ต้องเงียบปากเมื่อนิ้วชี้ของมารดาชี้มาตรงหน้าหล่อน เกรงว่าหากไม่หยุดการกระทำที่เหมือนเด็กอาจถูกตีได้
“ไปสิ จะมาทำหน้ามุ่ยแถวนี้ทำไม รีบไปจะได้รีบกลับมากินข้าว เร็ว!” สุดท้ายมือบางก็คว้าหม้อมาถือไว้ในมือ ก้าวออกจากบ้านพลางบ่นด้วยใบหน้างองุ้ม ปากแทบจะคว่ำอยู่แล้วกับการต้องไปบ้านก้องคำรามที่อยู่ห่างไปอีกสองซอย
“สั่งๆๆๆ สั่งได้สั่งดี หึ่ย โทรเรียกคนมาเอาไปไม่ได้หรือไง มีลูกก็ใช่จังเลย เกิดมาเป็นขี้ข้าหรือไงก็ไม่รู้ โอ้ยๆๆ” กระทืบเท้าระหว่างทาง มองทุกคนตาขวางจนไม่มีใครกล้าเข้ามาทักทายหรือพูดคุยด้วยทั้งที่ปกติหล่อนเป็นคนอัธยาศัยดี
ชอบเข้าไปคุยกับคนในหมู่บ้านจนรู้เรื่องราวของทุกคนอย่างทะลุปรุโปร่ง ถามเรื่องของใครกนกวดีก็ตอบได้หมดไม่มีพลาด
เดินมาไม่ไกลนักก็ถึงบ้านเรือนไทยหลังงามที่มีอาณาเขตกว้างขวาง ป้ายหน้าบ้านบ่งบอกถึงสถานะเจ้าของบ้านที่เป็นถึงกำนัน ซุ้มไม้เลื้อยเป็นทางเข้าสู่บ้าน หล่อนชอบมองดูเพราะเหมือนหลุดเข้าไปในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ราวกับละครที่เคยดูผ่านโทรทัศน์
ชั้นล่างเป็นลานโล่งโปร่ง มีบันไดขึ้นไปชั้นสองที่แยกห้องของแต่ละคนชัดเจน มีส่วนกลางบ้านที่โปร่งสบายไม่มีหน้าต่างหรือผนังกั้น รับลมได้ตลอดเวลา
แต่หลังจากเสือกลับบ้านก็สร้างเรือนอีกหลังอยู่ใกล้กัน มีเพียงรั้วกันกลางเอาไว้เพราะเขาต้องการความเป็นส่วนตัว บ้านที่สร้างเป็นเรือนไทยใต้ถุนโล่งเช่นเดียวกัน ตอนแรกเขาเพียงแค่อยากทำบ้านชั้นเดียว ทว่าพ่อกำนันอยากให้บ้านสองหลังมีความคล้ายคลึง จึงเปลี่ยนเป็นบ้านไม้แทน
เสือก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด เพราะเงินทั้งหมดก็พ่อออกให้ ทั้งยังมีมารดาคอยตกแต่งจัดวางทุกอย่าง เขาทำเพียงแค่เข้าอยู่เมื่อสัปดาห์ก่อน
กนกวดีเห็นอย่างนั้นก็นึกหมั่นไส้คนรวย บึนปากใส่บ้านของเสือแล้วเดินผ่านซุ่มมายังหน้าบ้านพ่อกำนัน
“น้าสร้อย น้าสร้อยอยู่ไหมจ๊ะ” เรียกคนข้างในเมื่อเห็นบ้านเงียบเชียบ แต่ไม่นานกลับมีเด็กน้อยวิ่งหน้าตั้งออกมา พอเห็นว่าเป็นหล่อนก็ส่งยิ้มกว้างพลางเอ่ยเรียกเสียงดัง
“พี่กิ่ง!” เธอยิ้มให้หนุ่มน้อยตรงหน้า
สิงห์ ก้องคำราม ลูกชายของน้าสร้อยที่มาเอาตอนท่านอายุเข้าเลขสี่ ทุกคนในบ้านดีใจปนงุนงงไม่คิดว่าเด็กน้อยจะมาเกิด ถึงจะอยากได้ลูกแต่เพราะสุขภาพที่ไม่ค่อยดีของภรรยา พ่อกำนันจึงคิดว่าคงมีเสือแค่คนเดียว
ไม่คิดเลยอีกหลายสิบปีต่อมาจะมีสิงห์ตัวน้อยเข้ามาอยู่ในท้องแม่ จึงกลายเป็นดวงใจของคนทั้งบ้านที่คอยประคบประหงมลูกคนเล็ก
“อ้าวสิงห์ แม่อยู่หรือเปล่า...พอดีแม่พี่ฝากต้มไก่มาให้ เอาไปสิ” ได้ทีก็คิดจะรีบนำอาหารให้เด็กน้อยแล้วกลับบ้าน เลี่ยงปัญหาการเจอหน้าคู่อริ แต่ยังไม่ทันจะได้ก้าวไปไหน สร้อยบุษบาก็เดินออกมาต้อนรับแขกด้วยรอยยิ้มหวาน
จนหล่อนต้องส่งยิ้มแหยะกลับ สงสัยก้าวช้าเกินไปจึงไม่อาจหนีทัน
“กิ่ง วันนี้แม่เราฝากอะไรมาให้น้าอีกล่ะ” หล่อนทำได้เพียงยื่นหม้อหูหิ้วไปให้น้าสร้อยที่อยู่ในชุดเสื้อคอบัวกับผ้าถุง หน้าตางดงามอยู่อายุเข้าเลขห้า เป็นผู้ดีทุกกระเบียดนิ้วจนเธอนึกสงสัยว่าท่านไปเก็บลูกชายคนโตมาจากถังขยะหรือเปล่า
ทำไมสภาพของเสือถึงได้เหมือนกุ๊ย ต่างกันลิบลับกับคนเป็นแม่
“ต้มไก่จ้ะน้าสร้อย แม่ทำเพิ่งเสร็จร้อนๆ ก็ให้หนูเอามาทันที น้าสร้อยไม่ต้องอุ่นก็ซดซุปร้อนได้คล่องคอเลยล่ะ” รับของมาถือไว้ แล้วมองลูกชายตัวน้อยที่ยังคงยืนนิ่งดูพี่กิ่งคนสวยไม่วางตา
“ฝากขอบใจแม่เราด้วยนะ อ้อ น้าทำกล้วยบวชชี เดี๋ยวไปตักมาให้รอตรงนี้ก่อนนะ” เพิ่งนึกได้ก็รั้งอีกฝ่ายเอาไว้ทันที เล่นเอากนกวดีถึงกับยิ้มหน้าตาย อยากกลับบ้านก็ไม่ได้กลับสักที ยังคงถูกรั้งไว้อีกจนได้
“เอ่อ ค่ะ”