...วุ่นวายนักจู่ๆ มีพ่อเป็นซุปตาร์...บทที่1...
พ่อฉันมีตัวตนสิ แต่แม่เลือกที่จะปิดปาก และไม่เอ่ยถึงชายผู้นั้น
ฉันเคยถามแม่นะ แม่ทำแค่ยิ้มแล้วรีบเปลี่ยนเรื่องพูด แววตาเศร้าๆ ของแม่ ฉันเลยไม่อยากคาดคั้น
เมื่อก่อนแม่เคยจ้างคนงานเพื่อแบ่งเบาภาระเรื่องงานบ้าน แต่เพราะรายได้ที่ลดลงแม่จึงจำเป็นต้องตัดรายจ่ายบางส่วนออก ไม่อย่างนั้นเด็กๆ พวกนี้คงต้องอดมื้อกินมื้อ ฉันเคยถามแม่ ทำไมแม่ถึงยังแบกภาระเรื่องเด็กๆ ไว้ ความจริงแม่ไม่จำเป็นต้องดูแลคอยสั่งสอนเด็กพวกนี้เลย แม่ตอบแค่ว่า “แม่ทิ้งเด็กๆ ไม่ลง หากจับพวกเขาไปอยู่ที่อื่น กลัวพวกเขาไม่มีความสุข”
ฉันเลยต้องพยายามช่วย ฉันโตแล้วนี่
“วันนี้แม่ทำอะไรให้พวกทโมนพวกนั้นกินคะ”
แม่หันมามองฉันแล้วก็ยิ้มแต่ไม่ตอบ แม่ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้ฉันรู้หรอก แค่มองผ่านๆ ฉันก็รู้แล้ว เมนูเช้านี้คงไม่พ้น “แกงจืด” โชคดีที่แม่มีฝีมือปรุงอาหาร รสชาติที่ได้ชิมเลยไม่จำเป็นต้องฝืนกลืนลงท้อง
เชื่อเถอะเด็กพวกนั้นก็คิดเหมือนฉัน ทุกวันนี้เพราะแม่ พวกเราทั้งหมดเลยยังอยู่ร่วมกัน ถึงฉันจะรำคาญในบางครั้ง แต่ฉันก็ทนเห็นเด็กๆ เหล่านี้ถูกจับแยกไปอยู่ตามสถานสงเคราะห์อื่นไม่ไหวเหมือนกัน
พวกเขาเป็นเหมือนน้องๆ ของฉันนี่นะ
บทที่2.ความลับที่ฉันบังเอิญค้นพบ
“วันนี้แม่ออกไปข้างนอกนะ เอลพาน้องทำงานบ้านด้วยล่ะ”
ฉันพยักหน้ารับ ช่วงปลายเดือนแบบนี้แม่มีธุระที่เดียวนั่นแหละ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีสตางค์มาซื้ออาหารและของใช้ในบ้าน ฉันคิดในใจแต่ไม่เคยปริปากบอกแม่ สักวัน ฉันจะทำให้แม่มีสตางค์ ไม่ต้องบากหน้าไปอ้อนวอนคนอื่น
“ถูบ้าน ถอนหญ้า เก็บใบไม้แห้ง แล้วก็รดน้ำต้นไม้ มีอะไรอีกไหมคะแม่” ฉันทวนคำสั่งที่แม่พูดให้ฟังเมื่อคืน
“เก็บกระดาษในลังเอาไปชั่งกิโลขายด้วย ขวดหลังบ้านแม่เก็บไว้ถุงใหญ่เลยนะ”
“จะได้กี่สตางค์กันคะ ช่วงนี้แม้แต่ขยะยังขายยากเลยแม่”
ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน แม่ค้ามีมากกว่าคนซื้อ คนมีเงินเลือกที่จะเก็บออมมากกว่านำเงินส่วนตัวออกมาใช้จ่าย การค้าฝืด อะไรๆ ก็พลอยอัตคัดไปด้วย
“ก็ดีกว่าทิ้งเฉยๆ นั่นแหละ”
มันก็ใช่อย่างที่แม่พูด หากทิ้งเปล่าๆ ก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมา การเก็บสะสมขยะไว้ บางทีก็เกิดประโยชน์ อย่างน้อยก็ยังได้ซื้อน้ำยาล้างจาน หรือไม่ก็ผงซักฟอกได้
หลังกำกับให้เด็กๆ กินจนอิ่ม กำชับให้ทำความสะอาดจานชามและย้ำเรื่องที่แม่สั่งฉันไว้เกินสามรอบ แม่จึงยอมตัดใจฉวยกระเป๋าสะพายใบเก่งเดินออกจากบ้าน ทิ้งให้ฉันคอยดูแลเด็กในอุปถัมภ์แทน
“ไป...รีบๆ ทำงานเสร็จแล้วจะเปิดทีวีให้ดู”
การประหยัดไฟเป็นอีกเรื่องที่แม่เข้มงวด ค่าไฟฟ้าที่บ้านฉันแค่หลักพันเองนะ แต่นั่นก็คือสตางค์ที่ต้องเจียดออกมาจากค่าอาหาร ดังนั้นหากไม่จำเป็น ฉันแทบจะไม่เปิดทีวีกลางบ้านเลย
เพราะมีแรงกระตุ้น เด็กๆ เลยขยันเป็นพิเศษ เริ่มด้วยการกวาด เก็บ และถูพื้นบ้านเป็นลำดับสุดท้าย กว่าจะครบทุกห้อง ทุกซอกทุกมุมของบ้านก็เล่นเอาเหงื่อไหลย้อยไปเหมือนกัน
งานในบ้านสำเร็จ ที่นี้ก็ยกโขยงออกไปทำนอกบ้าน
“พี่เอลลังนั่นน่ะ เอาไปรวมกับกระดาษของแม่หลังบ้านไหมคะ” สายใจวัยสิบปีอยู่ชั้นประถมสี่ชี้มือไปบนขื่อหลังคาลานซักล้าง ซึ่งพื้นที่นั้นฉันไม่เคยสังเกตมาก่อน ไม่คิดว่าใครจะอุตริเอาลังกระดาษขึ้นไปวางไว้บนนั้น
“เรียกชัชมาปีนเอาลงมาเถอะ ใครเอาขึ้นไว้นะ”
ชัชป้ายปีนขึ้นไปใช้มือดันลังกระดาษใบนั้นจนหล่นลงมาที่พื้น ฝุ่นฟุ้งกระจาย รวมทั้งของในลังใบนั้นด้วยกระดาษเก่าจนเปลี่ยนสี รูปถ่ายหลายใบ รวมทั้งกล้องถ่ายวีดีโอรุ่นเก่า
“ว้าวพี่เอล มีกล้องด้วยค่ะ”
เด็กๆ ฮือเข้ามามุง ความสนใจรวมอยู่ในสมบัติที่เพิ่งค้นพบ
“ใช้ได้หรือเปล่า หล่นมากระแทกพื้นเสียแล้วมั้ง”
ฉันหยิบกล้องขึ้นมาจากพื้น สำรวจไปรอบๆ ไม่มีร่องรอยบุบสลาย เป็นกล้องเก่าๆ ที่ใช้ถ่านเป็นแบตเตอรี่ ไม่เหมือนกล้องสมัยนี้ที่ใช้การชาร์จไฟ ฉันลองกดเปิด มีไฟสีแดงสว่างวาบขึ้นมา ก่อนจะดับวูบไป