บทที่ ๕ คืนสุดท้ายของปี
ช่วงเดือนสุดท้ายของปีร้านขายส่งคึกคักกว่าเก่า ร้านรวงเล็กใหญ่ในอำเภอต่างก็เข้ามาสั่งซื้อของเพื่อเติมเข้าร้านไว้รองรับลูกค้าที่จะเดินทางกลับจากเมืองหลวงกัน ในร้านขายส่งรุ่งกิจจึงยิ่งวุ่นวายหัวหมุนกันไม่น้อย
และลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอย่างบูมที่ออกไปไหนไม่ได้ก็ทำได้ก็ต้องช่วยงานในบ้านแทบไม่ได้พัก เมื่อก่อนยังได้ขับรถออกไปส่งของให้ร้านค้าข้างนอกที่สั่งเยอะบ้าง แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่มอเตอร์ไซค์ที่แม่ไม่ให้จับ รถอะไรก็ไม่ให้จับเลยสักคัน
“แม่ ปีใหม่บูมไปกินเหล้ากับเพื่อนได้ไหม” พอว่างเว้นจากลูกค้าก็ทิ้งตัวเก้าอี้พลาสติกข้างแม่ที่นั่งเก้าอี้หมุนอยู่หลังโต๊ะ
“ไม่ได้” ปฏิเสธอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิด ยิ่งปีใหม่รถเยอะคนเมาแยะ ยิ่งไม่น่าไว้ใจให้ออกไปไหนมาไหน
“แต่มันเป็นเดือน ๆ แล้วนะที่บูมไม่ได้ออกไปไหน”
“ก็ให้เพื่อนมากินกันที่นี่เหมือนที่ผ่านมาแทนไง” เธอไม่ให้ลูกออกแต่ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ลูกพาเพื่อนมา อย่างน้อยก็อยู่ในพื้นที่บ้านตัวเอง
“มันไม่เหมือนกันไง” ไปกินบ้านเพื่อนบรรยากาศมันดีกว่า ทุ่งนาหลังบ้าน ก่อไฟล้อมวง นั่งบนฟางอัดก้อน ไฟประดับ เปิดเพลง ลมเย็น ๆ ยามดึก ทุกอย่างโคตรดี “นะแม่ บูมนอนบ้านเพื่อนเลย ไม่ขับรถกลับหรอก”
“ไม่ได้ ระหว่างนั้นแม่ไม่รู้ว่าบูมจะขับขี่รถออกไปไหนหรือเปล่า” พากันเดิมเพลินเดี๋ยวออกไปซื้อนั่นซื้อนี่ ไว้ใจไม่ได้
“บูมสัญญาว่าจะไม่ออกจากบ้านเลย พอไปถึงจะอยู่กับที่ ขาดเหลืออะไรให้พวกมันออกไปซื้อ” ให้สัญญาด้วยเกียรติของลูกชายคนเดียวของบ้าน “นะ ตอนเย็นแม่ไปส่งตอนเช้าแม่ไปรับก็ได้”
ไถหัวไปยังต้นแขนของแม่อย่างออดอ้อน เขาจะลงแดงตายอยู่แล้ว ทั้งคิดถึงรถ คิดถึงการเจอกลุ่มเพื่อนเตะบอลด้วยกัน ปีใหม่ทั้งทีก็อยากออกไปเปิดหูเปิดตาบ้าง
“ทำไมดื้อแบบนี้นะบูม” ว่าอย่างใจอ่อนกับท่าทางของลูก
“ได้ไหมครับ นะเจ๊แอ๋ว” รู้ดีว่าทำแบบไหนแม่จะแพ้ ไอ้นิสัยขี้อ้อนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการงานถนัดเขาเลย
“งั้นรับปากแม่ ว่าไปถึงแล้วจะไม่ออกไปไหนจริง ๆ แม่ตามใจบูมแล้ว บูมทำให้แม่สบายใจได้ใช่ไหม” สิ่งที่ลูกพูดออกมาก็เข้าท่า ขอแค่ไม่จับรถจับราออกท้องถนนก็ถือว่าพอผ่อนปรนได้
“สัญญาครับ” ตอบรับด้วยรอยยิ้มทันที เพราะนี่แปลว่าเจ๊แอ๋วอนุญาตแล้ว
“ได้ ถึงวันนั้นแม่จะให้พ่อไปส่ง ตอนสาย ๆ จะให้พ่อไปรับ แล้วถ้าแม่รู้ทีหลังว่าบูมแอบผิดคำพูดกับแม่ ต่อไปแม่จะไม่อนุญาตจนกว่าจะแต่งเมีย” ขู่ดักทางไว้กันต้องตามแก้
“ค้าบ!” ตอบรับอย่างว่าง่าย เป็นลูกที่ดีและเชื่อฟังแม่อย่างมาก
พอได้สิ่งที่ต้องการก็มีแรงช่วยงานขึ้นมาเป็นกอง ลุกไปเคลียร์งานกับลูกจ้างคนในร้านต่ออย่างไม่ใช่คนเกียจคร้านเท่าไหร่
กระทั่งถึงคืนสุดท้ายของปี...
เฒ่าแก่สิทธิ์ขับรถมาส่งลูกชายยังหมู่บ้านของธีร์ที่ห่างจากตัวอำเภอประมาณสี่กิโลเมตรในช่วงเย็นตามที่เมียได้อนุญาตลูกชายไว้แล้ว
“จำสัญญาที่ให้กับแม่ไว้ล่ะ” ไม่ลืมกำชับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของตนอีกครั้ง
“คร้าบ” ตอบรับเป็นรอบที่ร้อย ก่อนออกจากบ้านแม่ย้ำแล้วย้ำอีก ก่อนลงจากรถพ่อก็ยังไม่ลืมย้ำ
ถ้าลืมอายุตัวเองคงคิดว่าสามขวบแน่
บูมลงจากรถกระบะของพ่อ พร้อมกับธีร์และภีมที่มาถึงก่อนเดินเข้ามาช่วยยกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังรถเข้าบ้านไป
“แม่มึงกลัวเบียร์หมดจนลูกชายต้องออกจากบ้านเหรอวะ” ภีมว่าขึ้นเมื่อเพื่อนหิ้วเบียร์มาหลายลัง
“เออดิ กลัวกูแอบขับรถออกไปไหนมาไหน เลยป้องกันไว้ก่อน”
“มึงก็อย่าเสนอหน้าไปไหนล่ะ แม่มึงอุตส่าห์ยอม” ธีร์ก็เข้าใจดีถึงความกังวลของพ่อแม่บูม
“เออ ไม่ไปไหนหรอกหน่า” ถึงจะอยากขี่มอเตอร์ไซค์รับลมสูดอากาศ แต่ก็ไม่อยากโกหกหรือทำให้แม่กังวลไปมากกว่านี้ แค่หาเมียให้เขายังไม่ได้ก็เครียดพอตัวแล้ว “โคตรคิดถึงบรรยากาศแบบนี้เลย”
พอเดินผ่านตัวบ้านมาด้านหลังที่เป็นทุ่งนาครอบครัวธีร์ที่อยู่ด้านหลัง เขาก็เจอกับฟางอัดก้อนที่วางล้อมเหมือนโต๊ะ ตรงกลางถางฟางออกโล่งแล้วขุดร่องเป็นวงกลมสำหรับกองไฟ มีไม้ที่ขุดปักเป็นเสาตามมุมห้อยไฟประดับไว้
บรรยากาศแบบทุก ๆ ปีที่พวกเขามักจะดื่มด่ำกันเป็นประจำ หนึ่งปีมีสามวัน ปีใหม่น่ะวันเดียว แต่วันกินวันถอนลากยาวไปหน่อย จำได้ว่าพากันกินนอนอยู่ทุ่งนาแทบไม่ไปไหน เพราะเป็นฤดูหนาว กลางวันมีร่มไม้ใกล้ ๆ บดบัง ยิ่งตอนเด็กพากันทำกระทุ่มฟางยิ่งมีที่ให้นอน
“พวกกูพากันมาทำเมื่อวานนี้แหละ” ธีร์บอก เพราะเขารวมถึงเพื่อนและรุ่นน้องที่สนิทกันช่วยกันแต่งสถานที่เมื่อวาน
ปกติทุกปีบูมก็มาร่วมด้วยช่วยกัน แต่ปีนี้เข้าใจดีว่ามาไม่ได้ แค่มันมาร่วมวงได้ก็นับว่าดีมากแล้วที่ได้อยู่กันพร้อมหน้า
“แล้ววันนี้ได้อะไรแกล้มบ้าง” บูมถามถึงของแกล้มที่จะทำปีนี้
“กูซื้อลูกชิ้นกับหมูมา เดี๋ยวค่อยเอามาย่าง” ภีมบอกเพราะพวกเขาหุ้นเงินกันซื้อของกินคาวหวาน รวมถึงพวกดอกไม้ไฟพลุต่าง ๆ
“กูสั่งไก่ไว้แล้ว เดี๋ยวน่าจะมาส่ง ไว้ซดน้ำอุ่น ๆ ตอนดึก ๆ” ธีร์บอกขึ้นบ้าง เพราะจะให้มีแต่น้ำเย็นก็ไม่น่าจะคล่องคอ อากาศเย็น ๆ ต้องมีน้ำอุ่น ๆ ด้วยถึงจะถูก
และธีร์ที่พูดจบไม่เท่าไหร่ ก็มีเสียงใสเสียงหนึ่งดังขึ้นจากหน้าบ้าน
“ป้าใจจ๋า”