บท
ตั้งค่า

ตอนที่ 5 จดทะเบียนสมรส

จดทะเบียนสมรส

พจีพัฒน์นั่งนิ่งทันที เพราะไม่รู้จะเอายังไงต่อกับเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้น และอีกอย่างก็ขัดคำสั่งของพ่อไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเขายังอยู่ในวัยเรียน เงินและทรัพย์สินทั้งหมดก็ยังมีไม่มากพอ จะมีเพียงแค่เงินเก็บเล็กๆ น้อยๆ จากเงินเดือนที่พ่อให้ใช้จ่ายในทุกเดือนเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ซึ่งก็แอบเก็บสะสมเอาไว้บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก

“ไม่ต้องพูดอะไรกันทั้งนั้นแหล่ะตาพีทกับหนูหริ่งต้องจดทะเบียนสมรสกันให้เร็วที่สุด แล้วเรื่องเรียนก็หยุดพักกันเอาไว้ก่อนทั้งสองคนเลย หนูหริ่งคลอดปีหน้าค่อยเรียนพร้อมกันทีเดียว หลังจากนี้ให้ตาพีทเข้าไปเรียนรู้งานกับตาเพชรที่บริษัทไปก่อน จนกว่าหนูหริ่งจะคลอด แล้วถ้าฉันรู้ว่าใครคิดอกุศลทำชั่วอะไร หรือว่าคิดไม่ดีให้หนูหริ่งแท้งขึ้นมา ได้เห็นดีกันแน่” พัฒน์พงษ์พูดออกมาโดยยื่นคำขาดแก่คนในบ้านทั้งหมดทันที

“ยัยเปียท้อง แต่ผมก็ไม่ได้ท้องนี้ครับพ่อ ทำไมต้องให้ผมพักเรื่องเรียนเอาไว้ด้วย อีกอย่างเราก็ไม่ได้รักกัน ทำไมต้องจดทะเบียนสมรสกันด้วยครับ” พจีพัฒน์พยายามหาเหตุผลมาอ้างขึ้น

“เรียนจบกันเมื่อไหร่ ถ้าไม่ได้รักกันพ่อถึงจะอนุญาตให้หย่ากันได้ แต่ตอนนี้ก็ลองใช้ชีวิต ดูกันไปก่อน ว่ากว่าหนึ่งชีวิตที่เกิดขึ้นมา แล้วกว่าจะโตขึ้นมาต้องลำบากเลี้ยงกันขนาดไหน พวกลูกจะได้เรียนรู้ชีวิตคู่ไปพร้อมๆกันเลย” พัฒน์พงษ์พูดขึ้นมาอีกครั้ง

“ตั้ง 4-5 ปีเลยน่ะครับพ่อ กว่าจะจบมหาลัย” พจีพัฒน์ ยังคงพยายามหาเหตุผลมาโต้แย้งกับพ่อ

“เอาตามนี้ พรุ่งนี้พ่อจะให้ทนายกับเจ้าหน้าที่อำเภอเข้ามาทำเรื่องจดทะเบียนสมรสให้” พัฒน์พงษ์รีบตัดบทขึ้นทันที เมื่อเห็นว่าลูกชายคนเล็กเริ่มจะต่อกลอนมากจนเกินไป

“แล้วทนายจะมาทำไมกันค่ะคุณพี่ ก็แค่จดทะเบียนสมรสกันเอง” นิษฐาถามสามีขึ้นมา

“สินสมรส และข้อตกลงในระหว่างนี้ ของตาพีทกับหนูหริ่ง และหลานที่กำลังจะเกิดมายังไงล่ะ” พัฒน์พงษ์พูดเพียงแค่นั้น ก็เดินขึ้นไปชั้นบนของบ้านทันที

รุ่งเช้า

เช้าวันนี้ที่พัฒน์พงษ์ได้ให้ทนายประจำตระกูลเข้ามาที่บ้านเพื่อทำข้อตกลงและอะไรในหลายๆอย่าง เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสของลูกชายคนเล็กของบ้าน และผลที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เมื่อทั้งคู่ต้องหย่าขาดจากกัน

“มากันครบแล้วก็เข้าเรื่องกันเลยครับ” พัฒน์พงษ์พูดขึ้นทันที เมื่อทุกคนมาพร้อมกันครบแล้ว

เจ้าหน้าที่ได้นำเอกสารต่างๆ ให้แก่พจีพัฒน์และพีรดาได้เซ็นจนครบทุกอย่างแล้ว จึงนำใบทะเบียนสมรสมอบให้แก่ทั้งคู่ถือคนละใบ

“ยินดีกลับทั้งสองด้วยนะครับ เป็นสามี-ภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขอให้ครองรักกันจนแก่เฒ่าเลยนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยแสดงความยินดีกับทั้งคู่ และจึงขอตัวกลับออกไปทันที

“คุณทนายช่วยร่างเงื่อนไขและข้อตกลงให้ทั้งคู่เซ็นตามนี้ด้วยนะครับ” พัฒน์พงษ์ยื่นกระดาษแผ่นเท่าA4 ยื่นให้แก่ทนาย ที่ยังคงอยู่ที่นี่ต่อ

ทนายทำการรับกระดาษแผ่นนั้นจากพัฒน์พงษ์มา แล้วร่างขึ้นมาใหม่ทันที พร้อมยื่นให้แก่ทั้งคู่คนละแผ่น เพื่อได้อ่านและเซ็นรับทราบ

“เชิญทั้งคู่อ่าน แล้วก็เซ็นยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ได้เลยครับ” ทนายอุเทน พูดขึ้นมาทันที ที่ยื่นกระดาษให้แก่ทั้งคู่

กฎและข้อตกลงสำคัญในระหว่างการสมรส และการหย่าในภายหลัง

ข้อที่ 1. เมื่อนายพจีพัฒน์และนางสาวพีรดาได้ทำการจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ถือว่าทั้งนายพจีพัฒน์และนางสาวพีรดาคือสามี-ภรรยาตามข้อกฎหมาย ทรัพย์สินทั้งหมดของนายพจีพัฒน์ที่มี นับตั้งแต่ตอนที่ได้ทำการทำการจดทะเบียนสมรส ได้ตกเป็นของนางสาวพีรดาครึ่งหนึ่งทันที

ข้อที่ 2. นายพจีพัฒน์ เมื่อได้ทำการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวพีรดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะไม่มีสิทธิ์คบหา หรือมีความสัมพันธ์ทางกาย ทางใจ กับบุคคลอื่นใด หรือแม้แต่ใครใดๆทั้งสิ้น จนกว่าจะมีการจดทะเบียนหย่า หากมีการละเมิดกฎ สามารถให้นางสาวพีรดาทำการฟ้องร้องได้อย่างเต็มที่ และเรียกค่าเสียหายทดแทนได้ตามจำนวนที่ต้องการ จากนายพจีพัฒน์โดยตรง และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกมาเป็นนางสาวพีรดาแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีข้อแม้ใดๆทั้งสิ้น

ข้อที่ 3. การหย่า สามารถทำการจดทะเบียนหย่าได้ ก็ต่อเมื่อครบกำหนดตามสัญญาในระยะเวลา 5 ปีเท่านั้นหลังจากนี้ หากนายพจีพัฒน์หรือนางสาวพีรดา ได้แอบไปจดทะเบียนหย่ากันก่อน ทั้งคู่จะไม่มีสิทธิ์ในการครอบครองบุตร และทรัพย์สินอื่นใดๆทั้งสิ้นจากทางบิดา

ข้อที่ 4. บุตรที่เกิดจากทั้งคู่ จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากทางครอบครัวของฝ่ายชาย และใช้นามสกุลจากทางบิดาเท่านั้น

ข้อที่ 5. การอยู่รวมกันฉันสามี-ภรรยา ข้อนี้แล้วแต่ทั้งคู่จะพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะถือว่าทั้งนายพจีพัฒน์และนางสาวพีรดาคือสามี-ภรรยากันโดยชอบธรรม เพราะถือว่ามีบุตรร่วมกันแล้ว

ข้อที่ 6. นางสาวพีรดาจะไม่ได้รับสิทธิในการครอบครองหรือดูแลบุตร เพราะบุตรจะอยู่ในการดูแลของนายพจีพัฒน์แต่เพียงผู้เดียว นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนหย่า แต่จะได้รับค่าทดแทนและทรัพย์สินจากนายพัฒน์พงษ์ ในจำนวนเงิน 100 ล้านบาท โฉนดที่ดินพร้อมกับบ้าน 1 หลัง เพื่อไปสร้างอนาคตและสามารถมีครอบครัวใหม่ได้ หลังจากที่จดทะเบียนหย่าไปแล้ว 1 ปี

ข้อที่ 7. หากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ทั้งนายพจีพัฒน์และนางสาวพีรดา สามารถศึกษาจบก่อนในระยะเวลา 5 ปี หรือทั้งคู่สามารถชอบพอกันจริงๆ เงื่อนไขและข้อตกลงดังกล่าว ตามกระดาษแผ่นนี้ถือว่าเป็นโมฆะทั้งหมด สามารถจดทะเบียนหย่ากันหรือไม่หย่าก็ได้ (แต่นางสาวพีรดา จะไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในตัวบุตร) และจะคืนสิทธิ์ให้แก่ทั้งสองตามความเหมาะสม

ทันทีที่พจีพัฒน์อ่านจบ ก็รีบเซ็นชื่อโดยไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งใดๆเลยแม้แต่ข้อเดียว ถึงจะเสียผลประโยชน์ไปมากก็ตามแต่ เพราะความที่ยังอายุน้อยอยู่แล้วไม่ได้คิดตะหนักถึงวันข้างหน้า ที่ไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร

“เซ็นได้แล้ว จะอ่านอะไรนักหนา เธอมีแต่ได้กับได้ จะกังวลอะไรอีก ฉันนี้สิต้องคิดหนักเสียทั้งอิสรภาพ เสียทั้งทรัพย์สิน” พจีพัฒน์พูดขึ้นทันที เมื่อเห็นว่าพีรดาไม่ยอมเซ็นเอกสารที่ทนายวางให้ตรงหน้า นานมากพอสมควร

“หนูหริ่งมีข้อข้องใจตรงไหนไหม” พัฒน์พงษ์ถามขึ้น

“หนูไม่มีสิทธิ์ในตัวลูกเลยใช่ไหมค่ะ หากว่าหนูหย่า ถ้าอย่างนั้นหนูขอไม่รับอะไรเลย แต่หนูขอเพียงแค่...” พีรดาพูดขอกับพัฒน์พงษ์ขึ้นมา แต่ก็ไม่ทันที่จะได้พูดจบ

“หรือว่ามันน้อยไปหรือ” พจีพัฒน์สวนขึ้นมาทันที

“เก็บเอาไว้พิจารณาเถอะน่ะ ผู้ชายเมื่อหย่าแล้วไม่มีอะไรเสียหาย แต่ผู้หญิงเรามันไม่เหมือนกันนะหนูหริ่ง แล้วอีกอย่าง ต่อไปก็เรียกพ่อด้วย ในเมื่อเป็นสามีภรรยากันกับตาพีทแล้ว” พัฒน์พงษ์พูดออกมาอีกครั้งให้พีรดาได้ฟัง

หญิงสาวจึงได้แต่จำใจ ต้องจรดปากกาเซ็นเอกสารตรงหน้านี้อย่างลำบากใจ และก็ไม่อาจจะปฏิเสธผู้มีพระคุณตรงหน้านี้ได้ด้วย

ดาวน์โหลดแอปทันทีเพื่อรับรางวัล
สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อดาวน์โหลดแอปHinovel