7
สองวันต่อมา
มื้อเช้าบ้านหิรัญภักดีเป็นไปอย่างทุกวัน คนทำอาหารคือกุลธิรัตน์ ที่เปลี่ยนเมนูไม่ซ้ำกัน คนในบ้านกินอาหารตามปกติ ส่วนแม่ครัวหลังจากอาบน้ำแต่งตัวด้วยชุดเรียบร้อย หล่อนออกจากบ้านหลังใหญ่ เช่นสามวันที่ผ่านมา
“กาแฟค่ะคุณอิฐ” ช้อยวางถ้วยกาแฟแทนที่ชามข้าวต้มทะเล ธรรม์บดีจิบดื่ม เขารู้สึกถึงรสชาติที่ไม่เหมือนเดิม
“ทำกาแฟเป็นแบบนี้” ธรรม์บดีถามสาวใช้ “เหมือนกาแฟชงสำเร็จรูปเลย”
“ใช่ค่ะ เป็นกาแฟสำเร็จรูปค่ะ” ช้อยตอบ “พอดีเครื่องชงกาแฟเครื่องใหม่ที่เพิ่งซื้อมา ช้อยกับนางทำไม่เป็นค่ะ คุณลูกหมีสอนแต่ก็จำไม่ได้”
“แล้วทำไมลูกหมา...เอ๊ย! ลูกหมีไม่ชงล่ะ” ธรรม์บดีถามต่อ
“คุณลูกหมีไม่อยู่ค่ะ เธอทำกับข้าวเสร็จก็ออกไปข้างนอกค่ะ ไปมาสามวันแล้วค่ะ”
“ไปไหน” ปกติธรรม์บดีไม่สนใจว่า ภรรยาไปไหนมาไหน ทว่าวันนี้อยากรู้มาก
“ไม่ทราบค่ะ ช้อยไม่ได้ถามค่ะ คุณลูกหมีก็ไม่ได้บอก”
“ย่าก็สังเกตนะว่า หลายวันมานี้ลูกหมีออกไปข้างนอกทุกวัน กลับมาก็ค่ำๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าไปไหน แต่ก็ดี ย่าจะได้ไม่เกะกะลูกตา” เดือนดาวไม่สนใจกุลธิรัตน์สักเท่าไหร่ หากไม่ติดว่า เสียเงินสามสิบล้านให้เพื่อนจอมเจ้าเล่ห์ นางไล่หล่อนออกจากบ้านแน่ ที่ให้อยู่อย่างน้อยก็สามารถใช้งานไม่ต่างกับคนรับใช้ได้ และหวังว่า กุลธิรัตน์จะมาทายาทให้ตน คลอดเมื่อไหร่ เฉดหัวออกจากบ้านเมื่อนั้น
“คงเบื่ออยู่บ้านมั้งคะคุณแม่ คงรู้ตัวน่ะค่ะว่า คนที่นี่ไม่ชอบหน้า” มณีคาดเดา
“หรือไม่ก็อาจมีนัดกับใคร ถึงได้ออกจากบ้านทุกวัน” ประโยคนี้กระแทกใจธรรม์บดีอย่างจัง ทำให้เขานึกย้อนไปเมื่อวันที่เจอกุลธิรัตน์เดินกุมมือผู้ชายในห้างสรรพสินค้า เขาตั้งใจพูดเรื่องนี้กับหล่อน แต่พอกลับถึงบ้าน เขาทำใจคุยกับหล่อนไม่ได้ เพราะแค่หน้ายังไม่อยากมอง
“ผมไปทำงานก่อนนะครับ” ธรรม์บดียกมือไหว้ผู้อาวุโส ลุกขึ้นเดินออกจากห้องกินข้าวเพื่อเดินทางไปทำงาน ขณะเดินไปยังรถยนต์ สมองเขานึกถึงกุลธิรัตน์ อยากรู้ขึ้นมาทันใดว่า หล่อนไปไหนทุกวัน
ธรรม์บดีขับรถออกจากซอยบ้าน เขาเลี้ยวรถออกถนนใหญ่ ขับออกไปราวห้าสิบเมตรจะเจอป้ายรถเมล์ ความที่วันนี้การจราจรค่อนข้างหนาแน่น เนื่องจากเกือบถึงไฟแดงรถเกิดอุบัติเหตุ เขาจึงอยู่เลนซ้ายมือสุด ขณะรอรถขยับ สายตามองเห็นกุลธิรัตน์ หล่อนยืนอยู่ตรงป้ายรถเมล์ และกำลังเปิดประตูรถยนต์ยี่ห้อหรู นำเข้าจากต่างประเทศ ยี่ห้อรถและรุ่น ธรรม์บดีรู้ราคาดี มันสูงถึงยี่สิบห้าล้านบาท ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า เจ้าของรถต้องมีฐานะดีมากๆ
“ไปไหน ไปกับใครวะ” ความอยากรู้แน่นอกมาก “ท่าทางรวยไม่เบา”
รถก็ติด จะขยับไปเลนกลางเพื่อดูหน้าคนขับชัดๆ ก็ไม่ได้
“หรือว่าจะเป็นแฟนยัยลูกหมาวะ” คิดเองเออเองคนเดียว “แม่งรวยนี่หว่า มิน่าถึงไม่ยอมเลิก คิดจับปลาสองมือนี่เอง ร้ายไม่เบาเลยนะ ยัยลูกหมา”
จังหวะที่ธรรม์บดีรอมาถึง เมื่อเลนกลางขยับ เขาจึงเลื่อนรถไปเลนดังกล่าว ขับไปอีกประมาณยี่สิบเมตรก็เห็นรถคันหรูที่กุลธิรัตน์นั่งอยู่ ทว่ากระจกรถติดฟิล์มกันแสง ไม่สามารถมองเข้าไปด้านในได้ เขาเห็นเพียงทะเบียนรถ ไม่รู้เหตุใดเขารีบจดทะเบียนรถคันนั้นทันที
“แล้วกูจะจดไว้ทำห่าอะไรวะ”
จดเสร็จก็บ่นกับตัวเอง มองรถยนต์สีแดงเพลิงที่กำลังเลี้ยวไปทางซ้ายตรงแยก ส่วนทางที่เขามุ่งหน้าไปทำงานคือทางตรง ธรรม์บดีได้แต่มองด้วยความรู้สึกบอกไม่ถูก...บอกไม่ถูกจริงๆ
สถานสงเคราะห์เด็กบ้านพันดาว คือจุดหมายปลายทางของเจ้าของรถสีแดงเพลิง คนขับรถนำรถมาจอดหน้าอาคารสูงสองชั้น ก่อนที่คนในรถจะก้าวลงมา แล้วพากันเดินเข้าไปในอาคาร
“สวัสดีค่ะคุณนิ ลูกหมี”
อำพร หัวหน้าดูแลเด็กและเจ้าหน้าที่ทักทายสองสาว ชนิตพรกับกุลธิรัตน์พนมมือไหว้อำพร ที่ยกมือรับไหว้
“นิพาลูกหมีมาส่งค่ะ ขอโทษนะคะที่วันนี้มาส่งช้า มีรถเกิดอุบัติเหตุน่ะค่ะ รถเลยติดยาว” ชนิตพรบอกกล่าว
“ช้านิดช้าหน่อยไม่ว่ากันค่ะ”
“ลูกหมีขอตัวไปดูเด็กๆ ก่อนนะคะพี่นิ” กุลธิรัตน์บอก ชนิตพร
“ไว้ตอนบ่ายพี่มารับนะ”
“ลูกหมีกลับเองก็ได้ค่ะ พี่นิจะได้ไม่ลำบากมารับ เผื่อพี่นิมีธุระ” กุลธิรัตน์กล่าวอย่างเกรงใจ
“พี่ไม่มีธุระที่ไหนหรอก ไว้พี่มารับนะ”
“ค่ะ ลูกหมีไปก่อนนะคะ” คนพูดยิ้มให้ชนิตพรกับอำพร จากนั้นจึงเดินไปทำหน้าที่ของตน
“ลูกหมีเข้ากับเด็กๆ ได้ดีเลยค่ะ นิสัยก็น่ารักด้วย” อำพรพูดกับชนิตพร “ทำงานไม่เกี่ยงด้วยค่ะ จนบางครั้งพี่ไม่กล้าใช้ลูกหมี อาจเป็นเพราะลูกหมีแค่มาช่วยงานไม่กี่วัน”
เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งลาออกไป ทำให้ขาดคนทำงาน ด้วยจำนวนเด็กที่ต้องดูแลมีเกือบหกสิบคน เมื่อขาดไปหนึ่งคน คนที่เหลืออยู่ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องเจียดเวลามาทำหน้าที่แทน ชนิตพรที่รับหน้าที่ดูแลภาพรวมของสถานสงเคราะห์รู้เรื่อง จึงเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่คนใหม่
มีคนสนใจสมัครหลายคน ทว่ากลับเข้าตาเพียงหนึ่ง แต่คนนั้นมาทำงานได้สิ้นเดือนนี้ เนื่องจากรอให้งานทำบุญเลี้ยงวันเสียชีวิตบิดาร้อยวันผ่านไปก่อน จะได้ไม่ต้องลางานเพื่อจัดงานดังกล่าว อีกหลายวันกว่าจะถึงสิ้นเดือน ชนิตพรต้องการหาคนมาช่วยงานชั่วคราว หล่อนสอบถามมิ่งเมือง หนึ่งในเด็กในสถานสงเคราะห์ที่เคยดูแลว่า รู้จักใครที่พอรับงานนี้หรือไม่