บทย่อ
โปรย: ให้ตายเถอะ! ทะลุมิติมาทั้งทีได้มาเป็นสะใภ้ก็ถือว่ายากแล้ว แต่นี่ต้องมาเป็นสะใภ้อีสาน โอ้ยอยากตายแล้วเกิดใหม่จริงโว้ย กันเป็นลูกชายของพ่อใหญ่ศิลากับแม่ใหญ่ปุ่น ซึ่งเขามีพี่น้องทั้งหมดหกคนเขาเป็นพี่ชายคนโตตอนนี้อายุย่างเข้ายี่สิบสามปี พ่อกับแม่อยากให้ออกเรือน และเห็นว่าเอมอรมีฐานะดีมีไร่นาหลายสิบไร่พ่อกับแม่จึงได้จับจองเป็นลูกสะใภ้ใหญ่ของบ้าน “จั่งได๋ข่อยกะบ่อแต่ง” (ยังไงผมก็ไม่แต่ง) กันยืนกรานกับพ่อแม่ขณะที่แม่ของฝ่ายหญิงกลับไปแล้ว “จั่งได๋มึงกะต้องแต่ง มึงไปอุ้มลูกสาวเพิ่นแล้ว ลูกเพิ่นเสียหาย” (ยังไงมึงก็ต้องแต่ง มึงไปอุ้มลูกสาวเขาแล้ว ลูกเขาเสียหาย) ศิลาดุลูกเสียงแข็ง เขาไม่เคยยอมให้ใครมาต่อว่าถึงเรือนฟรีๆ อีกอย่างพ่อกับแม่ของเขาก็ชอบเอมอรยังไงก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจง่ายๆ กันได้แต่นั่งเงียบไม่กล้าเถียงพ่ออีก เขารู้ว่าพ่อเขาโหดแค่ไหน ถ้าเกิดทะเลาะกันไปมีหวังโดนหวายลงหลังแน่ วันนี้เขาต้องไปเจอหน้าเอมอรด้วยเพราะต้องไปเกี่ยวข้าวช่วยว่าที่เมียในอนาคต บรรดาลูกๆอีกทั้งห้าคนได้แต่นั่งเงียบเมื่อเห็นพ่อกำลังโกรธเพราะไม่อยากโดนหางเลขไปด้วย
ตอนที่ 1 ไปเยี่ยมปู่กับย่าที่ต่างจังหวัด
ตั้งแต่จำความได้ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สองที่เธอได้มาเยี่ยมบ้านปู่กับย่าที่จังหวัดหนึ่งทางภาคอีสาน เขมหรือเขมิกาเกิดและโตที่จังหวัดอยุธยา พ่อของเธอเป็นคนอีสานแต่เข้ามาทำงานที่อยุธยาจนได้พบรักกับแม่หลังจากทั้งคู่แต่งงานกันพ่อของเธอก็ย้ายเข้ามาอยู่กับแม่ที่อยุธยา นาน ๆ ครั้งพ่อจะกลับมาเยี่ยมบ้านสักทีด้วยภาระหน้าที่การงานไม่เอื้ออำนวย ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทของพ่อกับแม่หยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่เธอเลยมีโอกาสได้มาเยี่ยมบ้านปู่กับย่าพอดี
เขมิกาเป็นลูกสาวคนเดียวของอรพินท์กับมนัส อายุตอนนี้ก็สิบแปดปีเรียนอยู่ปีหนึ่งมหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ วันนี้เธอรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดไกล ๆ เพราะปกติก็อยู่แต่ในชุมชนเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น เธอใฝ่ฝันอยากมีบ้านที่รายล้อมไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี ภายในบริเวณบ้านปลูกผักและดอกไม้ล้อมรอบ มีสระบัวอยู่ไม่ไกลจากตัวบ้านนัก
พอมาถึงบ้านปู่กับย่าก็เกือบเก้าโมงเช้าแล้วปู่กับย่าตอนนี้ไปทำบุญที่วัดยังไม่กลับ ลุงดำจึงพาออกไปบ้านสวนก่อนแล้วค่อยมารับปู่กับย่าในภายหลัง ซึ่งลุงดำทำเกษตรผสมผสานและมีเถียงนาขนาดใหญ่ที่ดูทันสมัยเพื่อต้อนรับญาติพี่น้องซึ่งที่นาของลุงมีลำน้ำไหลผ่านเป็นสายยาว สามารถสูบน้ำขึ้นมาทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
เขมิกาเดินลัดเลาะเข้าไปด้านในพื้นที่นาของลุงจนเห็นสระน้ำขนาดใหญ่ ในสระมีบัวแดงที่กำลังออกดอกบานสะพรั่ง และอีกต้นคือต้นอะไรเขมิกาไม่รู้จัก แต่น่าจะเป็นไม้น้ำเหมือนกันมีลักษณะขอบใบหยักเล็กน้อยใบคล้ายรูปพัดเรียงซ้อนกันแผ่ออกมาเป็นวงกลมลอยอยู่บนผิวน้ำ บางต้นมีดอกกำลังบานอยู่เหนือน้ำสีขาว ภายในสระน้ำมีเรือพายสำหรับนั่งเก็บสายบัว คิดแล้วก็อยากลงไปเก็บติดก็ตรงที่เธอพายเรือไม่เป็น
เขมิกาทนดูความสวยของดอกบัวแดงไม่ได้จนต้องหยิบโทรศัพท์ในกระเป๋าขึ้นมาถ่ายรูปเก็บไว้ ขอบสระลุงดำปลูกกล้วยน้ำว้า ชะอม ข่า ตะไคร้ แมงลัก ไว้ทั้งสี่ด้าน พื้นที่ด้านข้างเป็นที่นาของคนในหมู่บ้านเดียวกันซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกันไม่ได้ล้อมรั้วเป็นเขตแดน ที่นาด้านข้างมีข้าวที่กำลังสุกสีเหลืองทองอร่าม เขมิกาอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเก็บไว้อีก เธอชอบบรรยากาศแบบนี้ที่สุด โทรศัพท์แพลนกล้องไปหยุดอยู่ที่ชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่บนขอบสระของที่นาด้านข้าง เหมือนกับตอนนี้เธอได้ยินเสียงเหมือนเครื่องสูบน้ำดังกึกก้องมาแต่ไกล
ลุงกับป้าเธอที่อยุธยาก็ทำนาเหมือนกันแต่ส่วนมากใช้เครื่องจักรทุ่นแรง มีรถเกี่ยวข้าวไม่ต้องใช้แรงคนในการเก็บเกี่ยว
เขมิกาซูมกล้องเข้าไปใกล้ ๆ เธอเห็นใบหน้าหล่อเหลาคมเข้มของชายหนุ่ม ผิวสีน้ำผึ้งเนียนราวกับผิวผู้หญิงตอนนี้เขากำลังหันหน้ามาทางเธอพอดี เขมิกากดปุ่มถ่ายรูปเขาไว้ได้ทันก่อนจะมีเสียงเรียกเธอจากทางด้านหลัง
“พี่เขม มายืนอยู่ตรงนี้นี่เองวาตามหาตั้งนาน”
วาหรือวรดาเป็นลูกสาวคนเดียวของลุงดำเป็นรุ่นน้องของเขมิกาสองปีตอนนี้เธอเรียนอยู่ชั้นมอห้าในตัวอำเภอเมือง ท่าทางเธอเป็นคนทะมัดทะแมง ดูคล่องแคล่วไม่เชื่องช้าเหมือนกับคนพี่
“วาเขากำลังทำอะไรกันเหรอ” เขมิกาหมายถึงเสียงเครื่องยนต์รถเกษตรที่กำลังสูบน้ำลงไร่นา เสียงดังสนั่นไปทั่วทุ่งนา
“อ๋อ เขาสูบน้ำหาปลาจ้ะ ช่วงเทศกาลคนอีสานเขาชอบทำกัน รวมญาติมาหาปลาแล้วก็ทำกินกันค่ะ พ่อวากับคุณอาทั้งสองก็อยู่ค่ะ ลุงแขกแกมาชวนไปหาปลาด้วยกัน” วรดาคงหมายถึงเจ้าของที่นาแปลงนั้นมาชวนพ่อกับแม่และลุงของเธอไปร่วมหาปลาด้วย
“วาพี่อยากลงไปเก็บสายบัวน่ะ เอาไว้แกงใส่ปลาพี่ชอบกิน วาพายเรือเป็นไหม” เขมิกาถามสาวรุ่นน้องด้วยสายตาที่มีความหวัง
“โอ้ย สบายมากเลยค่ะ เกิดมาก็พายเป็นละ กะอีแค่พายเรือไม่เห็นจะยากตรงไหน”
‘นี่ชมตัวเองหรือด่าพี่มันกันแน่เนี่ย อย่าว่าแต่พายเรือเลย ว่ายน้ำก็ยังไม่เป็นจะมีอะไรแย่ไปกว่านี้อีก’
“งั้นดีเลย เราลงไปเก็บกันเถอะ” สองสาวเดินลงไปท่าน้ำ เขมิกาก้าวขาลงเรือไปก่อนแล้ววรดาก็ตามไป
“นั่งดี ๆ เด้อ ตกลงไปหนูบ่อซอยเด้” วรดาพูดติดตลกเป็นภาษาอีสานเขมิกาหัวเราะชอบใจเธอพอฟังออกบ้างและสามารถพูดได้เป็นบางคำเพราะพ่อเคยพูดให้ได้ยินบ่อย ๆ ตอนอยู่บ้านที่อยุธยา เขมิกาหยิบโทรศัพท์ออกมาถ่ายรูปอีกหลายครั้งก่อนจะเก็บไว้ในกระเป๋าสะพายข้างขนาดเล็ก